SHORT CUT
ประธานศาลรัฐธรรมนูญปาฐกถาครบรอบ 26 ปีวันสถาปนาศาลฯ ย้ำต้องสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและนิติบัญญัติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการประจำปีเนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และพิทักษ์รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ควบคุมไม่ให้บทบัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพิจารณาวินิจฉัยคดีที่อยู่ภายในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในแง่หนึ่งคือกฎหมาย แต่อีกแง่หนึ่งคือคือระบอบการเมืองการปกครอง หลักการประเพณี คุณค่า และการจัดวางโครงสร้างปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่อาจจะตีความตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกรณีไป และพยายามสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการหรือตรากฎหมายที่มุ่งไปในทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิร้องเรียนโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยศาลยึดหลักว่ากฎหมายนั้นต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่มีผลย้อนหลังโดยเฉพาะการลงโทษในทางอาญาต่อบุคคล รวมทั้งการเรียกบุคคลไปรายงานตัวต่อกฎหมายที่ผ่านพ้นไปแล้ว และยึดหลักสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยึดถือหลักการนี้อย่าเสมอต้นเสมอปลาย และต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิของบุคคลอันเกินกว่าเหตุ และสุดท้ายคือการตรากฎหมายต้องไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2541 มีคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ 1,181 คำร้อง มีคำวินิจฉัยไปแล้ว 812 คำวินิจฉัย มีคำสั่ง 1,047 คำสั่ง และมีคดีร้องทุกข์ 586 คำร้อง และมีคำวินิจฉัย 6 คำวินิจฉัยและคำสั่ง 570 คำสั่ง
ในขณะที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หรือหลายฝ่ายมองว่าการทำงานของศาลมีธงอยู่แล้ว ศ.ดร.นครินทร์ ชี้แจงว่า การวิพากษ์วิจารณ์ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายเป็นที่ยอมรับกันไหมหรือทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ปัญหาอยู่ตรงนั้น ยืนยันว่าคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องจำเป็นแต่ขอให้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต ไม่ใช้คำหยาบคายหรือดูถูกเหยียดหยามเพราะว่ามีโทษทางอาญา แต่อีกในแง่หนึ่งแสดงให้เห็นว่าศาลเป็นที่ยอมรับ เพราะการแก้ปัญหาทางการเมืองมาจากการเจรจา และถ้าแก้ปัญหาทางการเมืองกันได้ ไม่ต้องมาศาล จบที่สภาดีกว่า แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ยื่นคำร้องมาที่ศาลก็แสดงว่าเห็นศาลเป็นที่พึ่ง แต่คำตัดสินของศาลจะออกมาได้แค่สองหน้าเท่านั้นว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายคนคิดว่าเป็นธง แต่ยืนยันว่าในศาลไม่มีธง เราโต้เถียงกันมากพอสมควร และทุกวันนี้ก็มีตุลาการหน้าใหม่เข้ามา คงจะทำให้ความเห็นหรือทิศทางเป็นอย่างอื่นไปได้
ส่วนการที่พรรคก้าวไกลของขยายระยะเวลาส่งคำชี้แจงอีก 15 วันก็จะเกินสิ้นเดือนเมษายน และต้องมีการไต่สวนทั้งหลักฐานและบุคคล เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลเองเหมือนจะรู้ชะตาแล้วว่าต้องถูกยุบ ศ.ดร.นครินทร์ ชี้แจงว่าข้อกฎหมายคนละข้อกันกับการหาเสียงมาตรา 112 ที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แต่การยุบพรรคต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ถือเป็นคนละส่วนกัน
ศ.ดร.นครินทร์ ยังชี้แจงว่า จะเปรียบเทียบกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงคนละอย่างกัน คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายมักจะคิดว่าเหมือนกัน แต่ข้อเท็จจริงต่างกัน แค่ชื่อของตัวละแสดงก็ต่างกันแล้ว