แชตไลน์หลุด กลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์ลามไปถึงผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 70:30 และ 3 ใน 4 คืออะไร? และส่งผลต่อเกมส์การขึ้นสู่อำนาจของหัวหน้าพรรคคนที่ 9 อย่างไร?
กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ หลัง 'มาดามเดียร์' น.ส.วทันยา บุนนาค ผู้ประกาศตัวลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพและข้อความผ่าน X บัญชี @dearwatanya เผยแชทไลน์ในกลุ่มประธานสาขาพรรค และตัวแทนสาขาพรรค ที่เป็นโหวตเตอร์โดยถูกส่งมาจากคนชื่อ 'ชวลิต' ที่มีข้อความว่า
"กรณี
1.ถ้ามีการโหวตงดเว้นข้อบังคับพรรค 70:30 เราจะไม่ยกมือ
2. ถ้ามีการงดเว้นคุณสมบัติให้มาดามเดียเราจะไม่ยกมือ"
พร้อมกันนี้ มาดามเดียร์ยังใส่ข้อความในแคปชั่นว่า "ขอบคุณค่ะ เสรีภาพที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อไม่มีแสงแห่งความหวังแล้วแสงแห่งศรัทธาจะกลับมาได้ยังไง"
หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าการของดเว้นข้อบังคับ 70:30 เป็นประเด็นที่นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอให้แก้ไขในการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากการให้น้ำหนักคะแนนโหวตเลือกหัวหน้าพรรคของ สส. เป็น 70% ของที่ประชุม และคะแนนโหวตขององค์ประชุมที่เหลือเป็น 30% จะทำให้กลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้เปรียบ เนื่องจากมีเสียง สส. อยู่ในมือถือ 21 คนจากทั้งหมด 25 คน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล และทำให้การประชุมล่มในเวลาต่อมาถึง 2 ครั้ง
ขณะที่การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคจากนายชวน หลีกภัย ก็ได้โอกาสกล่าวย้ำถึงข้อบังคับ 70:30 ว่าเริ่มต้นในสมัยที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากองค์ประชุมในสมัยนั้นมี สส. และอดีต สส. ประมาณ 150 คน และเป็นช่วงเวลาพรรคประชาธิปัตย์เร่ิมทำระบบตัวแทนจังหวัด เนื่องจาก คสช. ยุบสาขาพรรค จึงต้องกำหนดน้ำหนักของคะแนนเสียงใหม่เพื่อให้นำ้หนักของคะแนนเสียง สส. ไม่ต่างกับตัวแทนจังหวัดมากนัก และตอนนั้นยังระบุไว้อีกว่าสัดส่วนน้ำหนัก 70:30 ใช้สำหรับการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค และถ้าใครชนะก็จะถอนตัวในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในที่ประชุมใหญ่ ดังนั้นสัดส่วน 70:30 จึงไม่ได้มีความหมายในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจริงๆ
แต่หลังจากนั้นมีการขอยกเว้นการหยั่งเสียง เนื่องจากใช้เวลานาน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็กล่าวว่าถึงตอนนี้เวลาล่วงเลยมานานกว่า จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องยกเว้นการหยั่งเสียง ในทางกลับกัน การหยั่งเสียงจะเป็นการระดมสมาชิกและการเพิ่มการมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งให้พรรค
ดังนั้นการยกเลิกข้อบังคับ 70:30 ย่อมจะทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เปรียบ เนื่องจากมีฐานเสียงเป็นตัวแทนจังหวัดและสาขาพรรคมากกว่า สส. และแน่นอนว่าการยืนยันใช้ข้อบังคับ 70:30 ก็ย่อมทำให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่มีเสียง สส. อยู่ 21 เสียงได้เปรียบ อีกทั้งการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3 คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการที่นำโดยนายเฉลิมชัย ยังได้เพิ่มองค์ประชุมสำรองไว้เพื่อป้องกันฝั่งที่กุมเสียงตัวแทนจังหวัด และสาขาพรรคทำองค์ประชุมล่มอีกด้วย
ขณะที่ข้อบังคับพรรคที่ 31(6) และ ข้อ 32(1) ที่กำหนดให้ผู้ที่จะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเคยเป็น สส. หรือรัฐมนตรีในนามพรรคประชาธิปัตย์ หรือสังกัดพรรคมาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือหากขาดคุณสมบัตินี้ต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 4 ขององค์ประชุมยกมือโหวตเพื่อยกเว้นข้อบังคับนี้ถึงจะสามารถลงสมัครแข่งเป็นหัวหน้าพรรคได้ แต่ปรากฏว่าผลการลงคะแนนให้ น.ส.วทันยา ไม่ถึง 3 ใน 4 จึงทำให้ขาดคุณสมบัติไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคได้ ตามเนื้อหาในแชทไลน์ที่หลุดออกมาเวลาก่อนหน้าการโหวตยกเว้นของบังคับนี้ให้มาดามเดียร์
แม้ก่อนหน้านี้นายชวน หลีกภัย จะลุกขึ้นกล่าวสนับสนุนให้ยกเลิกข้อบังคับนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นมาดามเดียร์ได้เข้าแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคแล้วก็ตาม
ลักษณะเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคปี 2562 ที่นายอลงกรณ์ พลบุตร เคยได้รับการยกเว้นนี้มาแล้ว เพื่อให้ลงแข่งขันกับนายอภิสิทธิ์ เพราะนายอลงกรณ์ ลาออกและกลับเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ในเวลายังไม่ถึง 5 ปี
ตรงกันข้าม การเสนอชื่อนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ เป็นรองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ กทม. และน.ส.พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์ เป็นกรรมการบริหารพรรค ที่ยังสังกัดพรรคมาไม่ถึง 5 ปีและขาดคุณสมบัติเช่นเดียวกับมาดามเดียร์ กลับได้รับคะแนนโหวต 3 ใน 4 เพื่อยกเว้นข้อบังคับไปแบบฉลุย
การลงคะแนนหัวหน้าพรรคที่เป็นการโหวตลับ ต่างจากการโหวตยกเว้นข้อบังคับพรรคหรือรับรองญัตติที่ยกมือโหวตกันซึ่งๆ หน้า ดังนั้น แม้จะกุมเสียงข้างมาก แต่การเป็นตัวเลือกเดียวก็ยังปลอดภัยที่สุด และสุดท้าย นายเฉลิมชัย กลายเป็นเพียงแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเข้าสู่การโหวตเลือกหัวหน้าพรรคซึ่งได้รับคะแนน 88.5% จากองค์ประชุม 260 คนที่แม้ระหว่างทางที่มีการพักการประชุมอาจจะมีองค์ประชุมที่หายไปบ้าง แต่แผนการเตรียมองค์ประชุมสำรองก็ยังได้ผล และไม่ทำให้การประชุมล่มเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา
แถมยังส่งคนของตัวเองเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ทั้งคณะแบบม้วนเดียวจบไม่มีสะดุด
แต่ก็ส่งผลให้เกิดการทยอยกันลาออกของสมาชิกพรรคคนสำคัญ อย่าง นายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสาธิต อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ทพ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีต สก. และ สส.กทม.
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถึง การผิดคำพูดว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่กลับมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค การไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ที่ยิ่งสะท้อนความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อพรรคประชาธิปัตย์
นายเฉลิมชัยเอง ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคอะไหล่ และตัวเองก็มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณของประชาธิปัตย์อย่างเต็มเปี่ยมตลอดระยะเวลา 22 ปีที่สังกัดพรรค พร้อมกับเปรยว่าจะเข้ามาแค่แก้วิกฤตให้พรรคเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังไม่ได้คิดไปถึงว่าจะอยู่ยาวจนขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือนำทัพเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ เช่นเดียวกันยังยืนยันว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังแทงกั๊กถึงอนาคตวันข้างหน้าว่าจะนำพรรคไปร่วมรัฐบาลหรือไม่
ถือเป็นความท้าทายของนายเฉลิมชัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ว่าจะกอบกู้พรรคอย่างไรและจะนำพาพรรคไปทางไหน ในห้วงเวลาที่พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมกำลังถดถอย เขาจะสามารถช่วงชิงโหวตเตอร์กลับคืนมาได้อย่างไรยังเป็นเรื่องของอนาคตที่เจ้าตัวบอกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของพรรคภายใน 3 เดือนนี้แน่นอน