SHORT CUT
เปิดโพย สว.67 ใครกลุ่มไหน พันธุ์อะไร? ก่อนเคาะเลือกประมุขสภาสูง ประชุมวุฒิสภานัดแรก 23 ก.ค.นี้ มีทั้ง สว.สีน้ำเงิน(เข้ม), สว.พันธุ์ใหม่, สว.สีขาว, สว.อิสระ, สว.สีเขียวบ้านป่า และ สว.สีแดง
SPRiNG รวบรวมข้อมูลกลุ่มสี กลุ่มพันธุ์ สว. ที่เปิดเผยต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการผ่านรายงานข่าวที่มีการรายงานตรงกันหลายสำนัก ก่อนจะเปิดประชุมวุฒิสภาชุดใหม่ครั้งแรกในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ เพื่อเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา
กลุ่มนี้ไม่เปิดตัวเป็นทางการแต่หลายคนเห็นตรงกันว่าพวกเขาเกาะกลุ่มกันมาตั้งแต่กระบวนการเลือก สว. เห็นได้จากผลคะแนนที่เกาะกันเป็นกลุ่มในระดับคะแนนที่สูงมาก ส่วน พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ได้คะแนนลำดับที่หนึ่ง กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ยอมรับว่าตนคือ "สว. สีน้ำเงินเข้ม" เทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คาดว่ากลุ่มนี้มีมากที่สุดกว่า 140 คน ครองเสียงส่วนใหญ่อย่างเหนียวแน่น กุมสภาพในสภาสูง
เป็นกลุ่มเดียวที่เปิดชื่อและหน้าตาสมาชิกบางส่วนแล้ว นำโดย นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มสื่อมวลชน ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีที่มาจาก สว.ประชาชน ที่คณะก้าวหน้า รณรงค์ก่อนการเลือก สว. คนจึงติดภาพเป็น สว.สายส้ม จึงตั้งชื่อใหม่หวังสลัดคราบสีส้มและประนีประนอมเพื่อขยายแนวร่วมให้มากขึ้น จำนวนเบื้องต้นประมาณ 30 คน
มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต. ที่ประกาศตัวพร้อมชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา มีแรงหนุนจากเพื่อน สว.อีกประมาณ 30 คน เป็นพันธมิตรกับกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ และบางรายงานก็ยังสงสัยว่าอาจเป็นตัวแทนกลุ่มอำนาจเก่า เพราะนายบุญส่งเคยเป็นที่ปรึกษาอดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เมื่อสมัยที่ผ่านมา
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ประกาศตัวขอสลายขั้ว สลายสี สลายทุกกลุ่ม เป็นสีขาวที่เป็นกลางและอิสระ มีการทำริสแบนด์มาใส่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามี สว.คนอื่นใส่นอกจาก นพ.เปรมศักดิ์
คือ สว.สายสีเขียวบ้านป่า และ สว.สีแดง ที่ยังซ่อนตัวในเงา ไม่มีใครออกมาแสดงตัวต่อสื่อมากนัก แต่รับรู้ว่ามีอยู่จริง จำนวนไม่มาก และพยายามขอต่อรองแบ่งเก้าอี้ประมุขจากกลุ่มสีน้ำเงินมาไว้ในมือบ้าง
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์ในกลุ่ม สว. เสียงข้างน้อย ยังเบลอๆ ไม่ชัดเจนว่าใครอยู่กลุ่มใดกันแน่ บางคนที่อ้างว่ามีผู้สนับสนุนอาจไปนับเพื่อนร่วมกลุ่มไลน์มาเป็นพวกก็ได้ หรือเพื่อนที่เห็นอยู่กลุ่มเดียวกันก็ไม่รู้ไปเป็นเพื่อนร่วมกลุ่มอื่นด้วยอีกหรือเปล่า ดังนั้นจะต้องจับตาวันเลือกประธานวุฒิสภา 23 กรกฎาคมนี้ จะเห็นความชัดเจนผ่านผลการลงคะแนน