svasdssvasds

ภาพรวมการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใน สงครามกลางเมืองเมียนมา’ ปี 2566/67

ภาพรวมการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใน สงครามกลางเมืองเมียนมา’ ปี 2566/67

ภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ใน ‘เมียนมา’ ปี 2566 - 2567 กว่า 2.6 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น พลเรือนกว่า 4,000 คน เสียชีวิต

SHORT CUT

  • ตั้งแต่การทํารัฐประหาร ประชาชนกว่า 4,000 คน ตกเป็นเหยื่อการสังหารของกองทัพ ที่พยายามกระชับอำนาจของตนเอง
  • มีผู้พลัดถิ่น ภายในประเทศกว่า 2.6 ล้านคน พวกเขายังคงต้องใช้ชีวิตในสภาพที่ยากลําบาก ขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้และบริการที่จําเป็น
  • บริษัทเสื้อผ้า H&M ประกาศว่า จะยกเลิกการประกอบกิจการในเมียนมา หลังพบการกดค่าแรงหรือไม่ยอมจ่ายค่าแรง

ภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ใน ‘เมียนมา’ ปี 2566 - 2567 กว่า 2.6 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น พลเรือนกว่า 4,000 คน เสียชีวิต

หลังจากพลเอก มิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารในเมียนมา ปี 2564 และขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว สิทธิมนุษยชนในประเทศก็เลวร้ายลง เพราะหน่วยงานของรัฐบาลและกองทัพได้ปราบปรามผู้เห็นต่าง และเปิดปฏิบัติการโจมตีกลุ่มต่อต้านที่ใช้อาวุธที่กำลังขยายตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเต็มไปด้วยการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย และผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ ซึ่งมีทั้งผู้ที่ถูกสั่งจำคุก และถูกส่งไปใช้แรงงานหนัก หรือประหารชีวิต โดยนานาชาติล้มเหลวในการหยุดยั้งความรุนแรง และขัดขวางการละเมิด สิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงต่อพลเรือน

เมื่อวานนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และแอมเนสตี้ทั่วโลก ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/67 ที่รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2566 ซึ่งมีภาพรวมของ สถานการณ์ในเมียนมา โดยมีสรุปคร่าวๆ ดังนี้

เมียมาฉลองวันกองทัพ ครบรอบ 76 ปี : ภาพ Reuters

การโจมตี และการสังหารโดยไม่ชอบ

ตั้งแต่การทํารัฐประหาร ประชาชนกว่า 4,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนได้ตกเป็นเหยื่อการสังหารของกองทัพ ที่พยายามกระชับอำนาจของตนเอง รวมทั้งเหยื่ออย่างน้อย 1,345 คน ในปี 2566 การสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กองทัพโจมตีทางอากาศและทางบก ซึ่งย่อมถือเป็นการลงโทษแบบเหมารวมที่กระทําต่อพลเรือน และมักเกิดขึ้นภายหลังการจับกุมผู้คัดค้านการกระทำรัฐประหาร ทั้งที่ใช้อาวุธ และที่ปฏิบัติการโดยสงบ

การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

จนถึงสิ้นปี 2566 จํานวนผู้ที่ถูกทางการจับกุมนับตั้งแต่การทำรัฐประหารได้เพิ่มจนสูงกว่า 25,000 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) จนถึงเดือนธันวาคม มีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่อีกเกือบ 20,000 คน รวมทั้งแกนนําและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว นักศึกษา ทนายความ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

การค้ามนุษย์

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ (OHCHR) คาดการณ์ว่า มีผู้ถูกควบคุม ตัวประมาณ 120,000 คน ในอาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มักอยู่ใต้การควบคุมของกองกำลังที่สนับสนุนกองทัพ ตามแนวพรมแดนติดกับไทยและจีน และพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงออนไลน์และการพนันที่ผิดกฎหมาย โดยกลุ่มอาชญากรรม ให้ทำงานต้มตุ๋น

โดยในเดือนพฤศจิกายน กองกำลังสามพี่น้องซึ่งมีความสัมพันธ์กับจีนระบุว่า สามารถ ปล่อยตัวเหยื่อเหล่านี้จากอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณ พรมแดนติดกับจีน ระหว่างการโจมตีเมืองเล่ากาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการหลอกลวงออนไลน์ที่มีชื่อเสียง "รัฐฉาน" โดยหลายคนที่ถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงเหล่านี้ ถูกล่อลวงให้มาเมียนมาและเดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งจีนและเวียดนาม โดยสัญญาว่าจะให้งานทำ แต่กลับถูกบังคับรวมทั้งถูกข่มขู่ด้วยความรุนแรงให้เข้าร่วมในงานหลอกลวงออนไลน์

ผู้ลี้ภัยชาวเมียมา : ภาพ Reuters

สิทธิของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ

ตามข้อมูลของ OCHA มีผู้พลัดถิ่น ภายในประเทศกว่า 2.6 ล้านคน รวมถึงอย่างน้อย 500,000 คน ที่ต้องพลัดถิ่น เนื่องจากการสู้รบที่รุนแรงขึ้นนับแต่เริ่มปฏิบัติการ 1027 ช่วงปลายเดือนตุลาคม ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากยังคงต้องใช้ชีวิตในสภาพที่ยากลําบาก ขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้และบริการที่จําเป็น และเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

การปราบปรามของกองทัพทํา ให้ประชาชนแทบไม่สามารถชุมนุมโดยสงบได้เลย มีรายงานว่าประชาชนเกือบ 100 คนถูกจับกุมเนื่องจากสวมใส่ ขาย หรือซื้อดอกไม้ในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเกิดของอองซานซููจี ซึ่งการสอดแนมข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ประชาชนยังคงถูกจับกุมอย่างต่อเนื่องจากการโพสต์ทาง ออนไลน์ ทําให้เกิดบรรยากาศของการเซนเซอร์ตัวเอง

โทษประหารชีวิต

ยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตต่อไป รวมทั้งการใช้กับนักโทษการเมือง แต่ไม่มีข้อมูลว่าได้มีการประหารชีวิตขึ้น มีรายงานการเปลี่ยนโทษของนักโทษ 38 คนจากโทษประหารชีวิตเป็นโทษจําคุกตลอดชีวิต ภายหลังการอภัยโทษในเดือนพฤษภาคม

ความรับผิดชอบของบรรษัท

ภายหลังการมีหลักฐานเชื่อมโยงบริษัทจากต่างประเทศและในประเทศ เกี่ยวกับการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพเมียนมา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่มีความรุนแรงแตกต่างกันต่อบริษัทและบุคคลในเมียนมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การจัดซื้อและการจัดจําหน่ายเชื้อเพลิงให้กับกองทัพ

นอกจากนี้ บริษัทเสื้อผ้า H&M จากสวีเดนประกาศว่า จะยกเลิกการประกอบกิจการในเมียนมา หลังพบว่ามีการปฏิบัติมิชอบร้ายแรงเกิดขึ้น รวมทั้งการกดค่าแรงหรือไม่ยอมจ่ายค่าแรง

 

ภาพ Reuters

 

ที่มา : รายงานประจำปี 2566/6/ AMNESTY INTERNATIONAL สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related