SHORT CUT
สถานการณ์ในเมียนมา ณ ขณะนี้คือกองกำลัง KNU และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าควบคุมพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ เขตตะนาวศรี ใกล้ชายแดนไทยเมืองเมียวดีถูกยึด
เมืองมะละแหม่ง (กองบัญชาการหลัก) กำลังถูกโจมตีทหารเมียนมาเสียเปรียบ ต้องถอยร่น หลบซ่อนในฐานที่มั่น หาก KNU ยึดเส้นทางถนนทางเอเชีย ตัดการส่งของและทหารเมียนมา อาจนำไปสู่ชัยชนะของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา
ข้อเสนอแนะคือ ไทยควรช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติควรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เน้นเรื่องสาธารณสุข ควรเล่นบทบาทไพ่สองหน้า สานสัมพันธ์ทั้งรัฐบาลทหารเมียนมาและ KNU และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ รักษาดินแดน เจรจาสันติภาพ
นักวิชาการ ชี้ จุดยุทธศาสตร์เป็นตัวพลิกเกมความขัดแย้งใน “เมียนมา” หนุนรัฐบาลไทยเป็นตัวแทนเจรจาสร้างความสงบชายแดน
ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาได้กลายเป็นปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียนที่มีผลกระทบอย่างกว้างจนประเทศมหาอำนาจต่างจับตา ไทยเองซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมา ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยและทั่วโลกต่างจับตาว่าเราจะทำอย่างไรกับปัญหานี้
SPRiNG มีโอกาสพูดคุยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการผู้ติดตามความเคลื่อนไหวในเมียนมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ในมุมมองของอาจารย์มองว่าอย่างไรต้องติดตาม
รศ.ดร.ดุลยภาค รอง ผอ. สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองอนาคตสถานการณ์ของเมียนมาว่า คิดว่าคงสู้รบกันอย่างดุเดือด เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีทรัพยากรและระดมพล สถานการณ์ตอนนี้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเมียนมาและชนกลุ่มน้อยต่างฮึกเหิมเพราะรบชนะทหารเมียนมาได้เยอะ แต่ทหารเมียนมากำลังกระจุกกำลังในพื้นที่ใจกลางและกำลังเตรียมเกณฑ์ทหารให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อจะมายึดพื้นที่ต่างๆ คืนสงครามกำลังจะรากยาวอันนี้คือภาพใหญ่ก่อน
พอมาดูภาพเล็กอย่างเช่นเมียวดีคิดว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาประสบความสำเร็จเป็นการยึดเมืองได้เกือบเบ็ดเสร็จแล้วเหลือแต่บางจุดยุทธศาสตร์ของทหารเมียนมาเท่านั้น แต่พื้นที่ใต้เมืองเมียวดีไปยังมีค่ายทหารอยู่แถวๆ อ.พบพระ อ.อุ้มผาง ต้องรอดูต่อว่าฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหารเมียมาจะยึดเมืองมาได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าหากเราดูสนามรบที่ดุเดือดในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา แถวรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ เขตตะนาวศรี ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย จะมีอยู่ 3 สิ่งที่ KNU และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาต้องทำให้ได้ ถ้าหากทำได้รัฐบาลทหารเมียนมาจะอยู่ในภาวะล่อแล่ทันที หมายถึงว่าเตรียมยกธงขาวได้เลย 1.ไล่ตีฐานกองพลของกองพันทหารราบ ของกองทัพบกเมียนมาที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่รอบๆ เมียวดี 2.ยึดเส้นทางถนนทางเอเชียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก ซึ่งเป็นจุดส่งของของสินค้าและบริการ และเป็นเส้นทางระเบียบมนุษยธรรมจากไทยไปเมียนมาด้วย ถ้าหากยึดได้เบ็ดเสร็จจะเบิกทางไปสู่การควบคุมเมืองรายทางและเมืองย่างกุ้ง 3.ต้องยึดเมืองมะละแหม่งให้ได้ เพราะมะละแหม่งเป็นกองบัญชาการหลักของกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้เพราะหน่วยรบต่างๆ ไม่ว่าจะเมียวดีหรือส่วนอื่นๆ ได้รับการสั่งการมาจากตรงนี้
ถ้าจะชนะให้เด็ดขาดต้องยึดค่ายทหารบกที่มะละแหม่งให้ได้ อ.ดุลยภาค กล่าว
เมื่อถามว่าโอกาสในการทำสงครามช่วงหน้าร้อนจะทำให้กองทัพเมียนมา มีโอกาสมากขึ้นหรือไม่ รศ. ดร. ดุลยภาพมองว่าที่จริงนั้นมีการตอบโต้กันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วเพราะพื้นที่ในช่วงฤดูร้อนเป็นพื้นที่เปิดปกติทหารเมียนมามีธรรมเนียมว่าในช่วงฤดูร้อนจะขนยุทโธปกรณ์มาไล่ตีฐานชนกลุ่มน้อย แต่หลังรัฐประหารก็ผิดไปหน่อยเพราะว่าภายหลังฤดูร้อนทหารเมียนมาก็ถูกชนกลุ่มน้อยถล่มมาโดยตลอดจึงต้องจับตาดูว่าในเรื่องของเมืองสำคัญตามเส้นทางยุทธศาสตร์การทหารเมืองไหนจะถูกยึดได้บ้าง
กองกำลัง KNU และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาก็จำเป็นต้องรักษาพื้นที่ที่เป็นป่าทึบ ภูเขาเพื่อเอาไว้หลบซ่อนเช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะทำสงครามแบบซุ่มโจมตีซ่อนตัวทหารเมียนมาจึงไม่กล้าบุกเข้ามามาก
ส่วนทหารเมียนมานั้นจะอยู่ในฐานที่มั่นแต่ ณ ตอนนี้ฐานที่มั่นไม่ใช่ที่ปลอดภัยเพราะปัจจุบันมีอากาศยานไร้คนขับหรือโดนและปืนใหญ่ที่มีรัศมีการยิงที่ใกล้ๆ ที่ฝ่ายต่อต้านประดิษฐ์ขึ้นมาโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฤดูแล้งเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายมีโอกาสเล่นในสนามรบเหมือนกันทั้ง 2 ฝ่าย
อ.ดุลยภาค กล่าวว่าถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา รัฐบาลไทย ณ ปัจจุบันเริ่มเสียงดังขึ้นแล้ว จะบอกว่าเป็นการทูตแบบเงียบกริบเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะเริ่มมีการส่งเสียงพูดมากขึ้น มีการดำเนินการโครงการระเบียงมนุษยธรรมเริ่มมีการประชุมเมื่อปลายเดือนมีนาคม
ฉะนั้นถือว่าประเทศไทยมีบทบาทที่แข็งแรงมากขึ้นในเรื่องของการทูตมนุษยธรรม เพียงแต่ว่าวันนนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็เพราะว่ามีข่าวว่าทหารเมียนมาจะมาขึ้นเครื่องบินที่ อ.อแม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย ทำให้มีการพูดถึงว่าจะมีการขนอาวุธไปช่วยทหารเมียนมา แต่ตอนนี้อย่าพึ่งคิดไปถึงจุดนั้นเลย เพราะว่าทหารเมียนมา 600 คน ยังไม่ปรากฏตัว เพราะตอนนี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่ม KNU และในทางกลับกัน หากเขามาขึ้นเครื่องที่ประเทศไทยและกลับไปรัฐบาลกลางก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับโบนัส หรือถูกลงโทษทางวินัยเพราะพวกเขารบแพ้ ทำให้ไม่รู้ว่าจะมีคนอยากกลับไปรัฐบาลทหารเมียนมาเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่
ฉะนั้นต้องดูความเคลื่อนไหวของ 600 ชีวิต KNU และกองกำลังของ หม่องชิดตู ด้วยว่าจะเอาอย่างไร
ถ้าหากเสนอแนะให้รัฐบาลไทยปรับได้ ก็ขอเสนอแนะว่าให้รัฐบาลของเราตั้งธงมีหลักการพื้นฐานเรื่องการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกฝักฝ่าย ไม่ได้มี 2 มาตรฐานเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดในการช่วยเหลือฝ่ายไหนก็ได้ หากเป็นผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้นำกองกำลังชนกลุ่มน้อยถูกกักขังทรมานร่างกายถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หนีมาพื้นที่ฝั่งเรา เราก็ควรจะต้อนรับทุกฝ่ายใช้เรื่องนี้ให้สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่ส่วนหนึ่งพูดไว้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคู่ขัดแย้งจะต้องยุติความรุนแรงกัน และต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในเมียนมา เมื่อเป็นเช่นนั้นไทยจะไม่ถูกครหาว่าเลือกที่รักมักที่ชัง แต่ต้องเตือนไว้สักนิดว่าถ้าหากทหารเมียนมาหลบหนีแล้วขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเราก็ต้องให้ความช่วยเหลือและรีบส่งกลับไป แต่หากจะใช้ประเทศไทยเป็นจุดขนส่งอาวุธคิดว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำ
เราควรจะคอยดูแลเรื่องสาธารณสุข สุขภาพขั้นพื้นฐานมากกว่า ในอนาคตหาก KNU หรือ PDF ไปโดนทหารเมียนมาโจมตีเอาคืนหากเขาต้องหนีมาที่ประเทศไทยเราก็สามารถพูดได้ว่าเราช่วยเหลือกลุ่มนี้เหมือนกัน เราต้องช่วยเหลือทุกกลุ่มโดยขีดเส้นในย่านตำบลสำคัญแถวๆ เช่น อ.แม่สอด หรือเมืองเลียบแม่น้ำเมยแต่อย่าลึกเข้าถึงเมืองชั้นใน
รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยเอนเอียงไปทางรัฐบาลทหารเมียนมาเยอะ แต่ขณะนี้ภูมิทัศน์ความมั่นคงเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ณ บริเวณชายแดนเพราะฝ่ายต่อต้านกับชนกลุ่มน้อยเรืองอำนาจขึ้นมา ฉะนั้นจะบีบไทยโดยอัตโนมัติเองให้ไทยลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะเป็นหลักการเปลี่ยนดุลอำนาจโดยอัตโนมัติอยู่แล้วต้องรอดูอีกสักนิดนึง
แต่คิดว่านโยบายที่เหมาะสมอย่างนึงคือดินแดนเมียนมา ณ ตอนนี้ใจกลางของเมียนมาบริเวณเมืองเนปิดอว์ รัฐบาลทหารยังควบคุมอยู่ ถ้าหากเราต้องดำเนินการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเป็นทางการเน้นพื้นที่กับบริเวณศูนย์กลางของเมียนมาเราจึงต้องให้น้ำหนักกับรัฐบาลเนปิดอว์อยู่
แต่หากเป็นอาณาบริเวณชายแดนเราต้องยอมรับความจริงว่าทหารเมียนมาอำนาจลดไปจริงๆ ประเทศไทยควรเทน้ำหนักไปที่กลุ่มอื่นๆ มากขึ้นมองดูสภาพความเป็นจริงของชายแดน เราก็จะรู้ว่าจะไปทางไหน แต่ต้องรอดูอีกนิดนึงตอนนี้ยังอยู่ในสภาวะไม่สะเด็ดน้ำว่าตกลง KNU จะควบคุมพื้นที่ของเมียวดีได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ หรือทหารเมียนมาจะบุกชิงพื้นที่คืนหรือไม่ ต้องรอดู
คิดว่าหลักๆ คือการสู้รบบริเวณฝั่งประเทศเมียนมาอยู่ ยังไม่มีอาวุธหนักตกลงมาฝั่งไทย ยังไม่ได้มีอากาศยานรบบินล้ำแดนมา ฉะนั้นขอให้เรารอดูสถานการณ์ให้สุดท้ายที่สุดจริงๆ สักอีกนิด ขณะนี้กองทัพไทยทั้งกองกำลังนเรศวร หรือกองยุทธการกองทัพบกหรือกองทัพอากาศก็เตรียมความพร้อมในการลาดตระเวน การรักษาอธิปไตย
หลักๆ คือเรื่องภาพหรือข้อมูลเป็นสิ่งที่เราต้องดูอย่างระมัดระวังและดูอย่างครบถ้วน เช่นกรณีการปรากฏตัวของทหารเมียนมา 600 คนที่มาใช้สนามบินประเทศไทย แต่สุดท้ายยังไม่มา ฉะนั้นต้องรอดูและเตรียมความพร้อมในการตั้งรับ แต่เราต้องไม่ตั้งรับอย่างเดียวเราต้องมีเชิงรุกด้วย พร้อมที่จะเจรจาสันติภาพในพื้นที่ย่อยๆ ตามตะเข็บชายแดน เพราะไทยสามารถแสดงบทบาทเช่นนี้ได้ เรียกคู่ขัดแย้งมาเจรจาว่าหากรบกันให้ไปรบกันห่างไกลชายแดนหน่อยหรือห่างไกลกับจุดที่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ซึ่งต้องดูจังหวะและโอกาสรอให้มีช่องทางที่เหมาะสมและเราค่อยเข้าไปเป็นตัวกลางก็ย่อมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง