ชวนย้อนประวัติศาสตร์ สัตว์ท่องอวกาศ มนุษย์เราส่งสัตว์โลกชนิดใดบ้างไปนอกโลก ก้าวสำคัญของมนุษย์ที่เราต้องขอบคุณพวกเขา
หลายทศวรรษ กว่ามนุษย์จะนำพาตนเองออกไปนอกโลกเพื่อพบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่ เพื่อค้นหาและพิสูจน์ว่าโลกของเรานั้น หน้าตาเป็นอย่างไรและอยู่จุดไหนในจักรวาล โลกได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะมาก ซึ่งการทดลองเขาเรา เราได้หยิบยืมชีวิตของผู้อื่นมาด้วย
กว่ามนุษย์จะประสบความสำเร็จด้านอวกาศได้จนถึงทุกวันนี้ มนุษย์ได้นำสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไปทดลองด้านอวกาศมากมาย Springnews ในคอลัมน์ Keep The World จึงอยากรวบรวมมาให้ ว่ามนุษย์ได้ส่งสัตว์ชนิดใดไปอวกาศบ้าง?
แมลงวันผลไม้ (Fruit flies) เป็นสัตว์ตัวแรกในประวัติศาสตร์สัตว์อวกาศที่ได้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปีค.ศ.1947 โดยจุดประสงค์การทดลองคือเพื่อทดสอบการสร้างผลกระทบจากรังสีคอสมิกที่อาจมีต่อนักบินอวกาศ เพราะแมลงวันมีพันธุกรรมบางอย่างคล้ายมนุษย์
มนุษย์ส่งพวกมันเดินทางไปอวกาศเป็นระยะทางกว่า 109 กิโลเมตร และเมื่อพวกมันย้อนกลับมายังโลก แคปซูลที่บรรจุแมลงวันก็ได้ไปตกที่เม็กซิโก และเมื่อเปิดออกก็พบว่า แมลงวันยังมีชีวิตอยู่และไม่พบหลักฐานผลกระทบของรังสีคอสมิก
ลิงน่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มนุษย์ส่งไปอวกาศมากที่สุดถึง 32 ตัว ประกอบไปด้วย ลิงแสม ลิงหางหมู ลิงหางกระรอกและชิมแปนซี โดยลิงตัวแรกที่ส่งออกไปคืออัลเบิร์ต 1 ได้ส่งไปในปี 1949 แต่หายใจไม่ออกตั้งแต่ยังไม่หลุดพ้นจากพื้นโลก
และตัวที่ 2 อัลเบิร์ต 2 ได้เดินทางไปในปี 1950 เขาเดินทางไปได้ไกลถึง 134 กิโลเมตร แต่ก็เสียชีวิตจากการตกกระแทกพื้นเมื่อกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก เนื่องจากร่มชูชีพไม่ทำงาน
แต่ลิงที่ประสบความสำเร็จสุด คือ ลิงที่ชื่อแฮม เป็นชิมแปนซีที่ NASA ส่งไปอวกาศเมื่อปี 1961 และกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัย และมีชีวิตอยู่จนถึงปี 1983
สัตว์ฟันแทะอย่างหนู มีหรือจะไม่ไปด้วย หนูตัวแรกขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 1950 แต่ก็มีชะตาชีวิตไม่ต่างจากลิง มันตายลงเนื่องจากล่มชูชีพไม่ทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม นาซายังคงส่งพวกมันออกไปและให้มันอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ และหนูก็ปรับตัวกับสภาวะไร้น้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว
ไลก้า (Laika) คือสุนัขชื่อดังที่รู้จักกันดี ภายใต้ภารกิจเดินทางในอวกาศของสหภาพโซเวียต มันเป็นสุนัขจรจัดที่ถูกเก็บได้จากข้างถนนในกรุงมอสโก และถูกส่งไปอวกาศในปี 1957
แม้ว่าจะมีสุนัขถูกส่งไปอวกาศก่อนหน้าไลก้า แต่สุนัขเหล่านั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไลก้า ไลก้าประสบความสำเร็จเป็นสุนัขตัวแรกที่ได้โคจรรอบโลก แต่ไลก้าก็ไม่ได้หวนกลับมายังโลกอีกเลย มันถูกส่งไปพร้อมกับอาหารหนึ่งมื้อและออกซิเจนสำหรับ 7 วัน รัฐบาลโซเวียตบอกว่ามันอยู่ได้นานถึง 7 วัน ในขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่าไลก้าตื่นเต้นมากเกินไปและเสียชีวิตหลังจากบินออกไปได้ 5 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ปี 1960 สุนัขตัวแรกที่ได้ออกไปท่องอวกาศและได้กลับสู่โลกแบบมีชีวิตคือเบลก้าและสเตรลก้า (Belka & Strelka) จากโครงการของโซเวียตอีกครั้ง
Marfusha กระต่ายน้อยผู้กล้าหาญ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับแมลงวัน หนูและสุนัข และเป็นกระต่ายตัวแรกของโลกที่ได้ขึ้นท่องอวกาศ และรอดชีวิตกลับมาโดยที่ยังมีสุขภาพที่ดี (มันไม่ได้ไปตัวเดียว มันมีคู่หูไปด้วยคือ สุนัข 2 ตัว Brave กับ Snowflake) ในภารกิจโคจรรอบโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แมวเพื่อนซี้ของเราถูกส่งออกไปท่องอวกาศโดยชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 ต.ค.1963 แมวชื่อ เฟลิเซ็ตต์ (Félicette) เป็นแมวตัวแรกของโลกที่ได้ออกไปนอกโลก มันถูกฝังอิเล็กโทรดไว้ในศีรษะ เพื่อถ่ายทอดอาการของมันในสภาวะไร้น้ำหนัก มันใช้เวลาขึ้นไปด้วยระดับความสูง 100 ไมล์เป็นเวลา 15 นาที และลงจอดสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย แต่ก็ต้องถูกนำไปชำแหละถอดอิเล็กโทรดในอีก2 เดือนต่อมา เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสมองของมัน
ปัจจุบัน เพื่อเคารพการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของมัน Matthew Serge Guy ชาวลอนดอนได้เปิดแคมเปญระดมทุน Kickstarter เพื่อสร้างรูปปั้นสัมฤทธิ์ให้กับมัน และรูปปั้นดังกล่าวในปัจจุบันตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติ (ISU) ในเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส
แม้มันจะแพ้กระต่ายในนิทานอีสป แต่เต่าก็มีโอกาสมากกว่าเราในการออกไปท่องอวกาศ ในปี 1968 ระหว่างที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแข่งกันไปถึงดวงจันทร์ ชาวรัสเซียได้เปิดตัวยานอวกาศ Zond 5 พร้อมกับแคปซูลบรรจุตัวอย่างดิน เมล็ดพืช หนอนบางชนิด และเต่า 2 ตัว
เต่าที่ถูกส่งไปสามารถโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ กลายเป็นเต่าและสัตว์กลุ่มแรกของโลกที่ได้ไปโคจรรอบดวงจันทร์ หลังจากนั้น 7 วันก็กลับมายังโลก ด้วยร่างกายที่ปลอดภัยดี แถมน้ำหนักลดลงไป 10%
กบนักบินอวกาศได้ท่องอวกาศในปี 1970 เมื่อ NASA ปล่อยยานอวกาศ Orbiting Frog Olotith ซึ่งมีกบบลูฟร็อก 2 ตัวเดินทางไปด้วย (Bullfrog)
ซึ่งคำว่า Olotith หมายถึงกลไกความสมดุลของหูชั้นในของกบ การทดสอบนี้เกิดขึ้นเพื่อทดสอบผลกระทบของการเดินทางในอวกาศ คล้ายๆกับ ศึกษาอาการเมารถ
มันถูกฝังอิเล็กโทรดในทรวงอก เพื่อตรวจสอบระบบการทรงตัวและผลกระทบของภาวะไร้น้ำหนัก จากการศึกษาพบว่า 6 วันผ่านไป กบปรับตัวเข้ากับสภาพเดิมและระบบการทรงตัวของพวกมันก็ปกติดี
มีสัตว์เดินทางไปมากมาย แต่การทดสอบเรื่องของสภาวะไร้น้ำหนักยังไม่จบ ในปี 1973 แมงมุม 2 ตัวชื่อแอนนิต้าและอาราเบลลาถูกนำมาใช้ในการทดลองเพื่อดูว่ามันสามารถหมุนใยในอวกาศได้หรือไม่ ผลการทดลองคือ พวกมันหมุนใยได้ และดุเหมือนจะละเอียดกว่าการหมุนใยบนโลกเล็กน้อย
ในปี 1973 สัตว์น้ำตัวแรกที่ได้ไปนอกโลกคือปลาซิวชนิดหนึ่ง (มัมมิชอก-mummichon) พร้อมกับไข่อีก 50 ฟอง ความพิเศษคือการทดลองสภาวะไร้น้ำหนักกับสัตว์ที่เคลื่อนที่แบบสามมิติบนโลกหรือการเคลื่อนที่ในน้ำ
ปลากับนักบินอวกาศมีสิ่งที่คล้ายกันคือเมื่อขึ้นไปช่วงแรกจะมีอาการเมาอวกาศ ปลามีการว่ายเป็นวงกลมแทนการว่ายแบบเป็นเส้นตรง แต่ไม่กี่วันต่อมา ทั้งนักบินอวกาศและปลาก็เริ่มปรับตัวกับสภาวะไร้น้ำหนักได้มากขึ้น
และในตอนนี้ เมื่อปี 2021 หน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่นได้ส่งปลาไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ปลาที่ถูกเลือกไปคือ เมดากะ มีผิวหนังโปร่งใส พวกมันไปพร้อมตู้ที่มีระบบให้อาหารอัตโนมัติ ระบบหมุนเวียนน้ำ และระบบไฟแบบ LED เพื่อดูว่าพวกมันจะตอบสนองต่อการกระทบของรังสี การเสื่อมของกระดูก และการสูญเสียกล้ามเนื้ออย่างไร
หมีน้ำ (Tardigrades) เป็นสัตว์ชนิดแรกที่สามารถอยู่รอดได้ในอวกาศ มันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เราจะสามารถเห็นมันได้จากกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น พวกมันออกจากโลกไปในภาวะที่แห้งสนิท พวกมันออกไปเชิญกับภาวะขาดออกซิเจน การแผ่รังสี ความหนาวเย็น และภาวะขาดน้ำ มันโคจรรอบโลกเป็นเวลา 10 วัน และเมื่อกลับมาเพื่อลองรับน้ำอีกครั้ง นักวิทย์พบว่า กว่า 68% สามารถรอดชีวิตมาได้
ในปี 2007 นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียดีใจ หลังจากทดลองส่งแมลงสาบชื่อ โฮป (Hope) ไปอยู่นอกโลก และมันกลายเป็นสิ่งมีชีวิตตัวแรกที่ตั้งครรภ์ในอวกาศ โดยมันให้กำเนิดลูกแมลงสาบถึง 33 ตัว บนดาวเทียม Foton-M
มีการทดลองหนึ่งส่งฝูงมดไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อศึกษาว่าแรงโน้มถ่วงมีผลต่อการเคลื่อนไหวของมดในอวกาศอย่างไร ในขณะที่พวกมันต้องค้นหาอาหาร
ในปี 2021 SpaceX ได้ขนส่งอุปกรณ์การวิจัย รวมถึงหมึกหางสั้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในเดือนมิถุนายน ตามข้อมูลของ NASA สัตว์เหล่านี้ บนโลกมันเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์บางชนิดช่วยให้มันเรืองแสงได้ในที่มืด พวกเขาส่งมันไปอวกาศเพื่อศึกษาว่าไมโครไอโอมที่มีอยู่ในหมึก (เชื้อจุลินทรีย์อย่างหนึ่ง) ทนทานต่อสภาพวะในอวกาศได้หรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ถูกส่งออกไปนอกโลกเพื่อเป็นสัตว์ทดลองให้กับมนุษย์ ซึ่งเราไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากมีจำนวนเยอะมากพอประมาณ โดยมีทั้งรอดชีวิตกลับมาและกลับมาแบบไร้ชีวิต
สุดท้ายนี้ สัตว์เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญในฐานะเป็นก้าวสำคัญของมนุษย์เพื่อให้มนุษย์ยังคงสถานะสัตว์ประเสริฐที่สุดบนโลก ผู้เขียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งขอขอบคุณจากใจที่สละชีวิตให้กับมนุษย์เรื่อยมา
ที่มาข้อมูล
PHYS.org
ข่าวที่เกี่ยวข้อง