พลุเทศกาล ปัญหาหนักใจสำหรับทาสหมา-แมว ที่ต้องทนเห็นสัตว์เลี้ยงตัวสั่นเทาจากเสียงพลุ ที่ถูกจุดขึ้น ดังกึกก้องอยู่หลายนาที แม้จะหยุดแล้วน้อง ๆ ก็ยังผวาอยู่ Spring News รวมวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สัตว์เลี้ยงจากพลุเทศกาล
“It’s beginning to look a lot like Christmas…”
อีก 2 วันก็จะเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาส และเหลือเวลาอีกหนึ่งสัปดาห์ก็จะปิดจบปี2023 ไปอย่างสวยงาม สำหรับมนุษย์ซึ่งอาจอิ่มสุขจนล้น แต่สัตว์เลี้ยงจะสุขหรือไม่ หากต้องทนทุกข์จาก “เสียงพลุ” ที่มนุษย์กระหน่ำยิ่งขึ้นท้องฟ้าในช่วงเทศกาล
การศึกษาจาก MIT ระบุว่า กว่า 50% ของสุนัขที่เกิดอาหารหวาดกลัวต่อเสียงพลุ และมีประมาณ 17 สายพันธุ์ที่ทนเสียงพลุไม่ได้ ได้ยินเมือไร เป็นอันต้องวิ่งหน้าตั้งเพื่อไปหา “safe zone” คำถามคือ เรามีเซฟโซนให้กับสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักของเราหรือยัง?
แต่ช่วงเทศกาลมันก็ต้องเฉลิมฉลอง จะให้ทำอย่างไรเล่า?
Spring News รวบรวมวิธีสร้าง safe zone ให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณในช่วงเวลาที่มีการจุดพลุไม่ว่าจะในการเทศกาลใดก็ตาม ในวิธีที่ “มนุษย์ยังสนุก และไม่เป็นทุกข์สัตว์เลี้ยง” ติดตามวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณได้ที่บทความนี้
ในรายที่เลี้ยงหมาหรือแมวมาหลายปี อาจไม่มีปัญหามากในเรื่องนี้ เพราะซี้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองดี และที่ผ่านมาก็ตอบแล้วว่า สัตว์เลี้ยงของเราสั่นกลัวพลุเทศกาลแค่ไหน
ขอเริ่มที่สุนัขก่อน ต้องเรียนว่า ไม่ใช่สุนัขทุกตัวที่จะกลัวเสียงพลุ บางตัวได้ยินเมื่อไร เป็นต้องวิ่งหน้าตั้งเพื่อไปหาที่ซ่อนหรืออิงแอบเพราะคิดว่าเป็นภัย ทว่า บางตัวก็สามารถไม่รู้สึกรู้สากับเสียงดังจากพลุแม้แต่นิดเดียว สุนัขที่คล้อยหลับไปช่วงจุดพลุก็มีเหมือนกัน
ปัจจัยที่ทำให้สุนัขหวาดกลัวเสียงพลุมีหลากหลายตัวแปรด้วยกัน อาทิ อายุ สายพันธุ์ และความบอบช้ำในอดีต (เคยมีประวัติไม่ดีกับพลุ) Everyday Health ระบุว่า มีสุนัขถึง 17 สายพันธุ์ ที่ตอบสนองต่อเสียงรอบตัวได้ไว
ดังนั้น สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเลี้ยงสุนัขตัวแรก ให้คุณลองสังเกตดูว่าสัตว์เลี้ยงของคุณมีทีท่าจะหวาดกลัวหรือไม่ ถ้าไม่ก็โชคดีไป
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะสุนัขเท่านั้น กับแมวก็สามารถนำไปใช้ได้ เข้าใจว่าแมวเป็นสัตว์ที่เอาใจยาก แต่ยังไงก็เอาใจเขาสักหน่อย “ทาสแมว” อย่างเราคงไม่มีใครเห็นภาพแมวนั่งตัวสั่นเพราะพลุเทศกาลหรอกจริงไหม?
ในช่วงสิ้นปี เมื่อสองเทศกาลที่คาดว่าจะมีการจุดพลุแน่ ๆ นั่นคือ วันคริสต์มาสและวันสิ้นปี ที่กระสุนพลุจะถูกกระหน่ำยิงขึ้นสู่นภา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตอนกลางคืน
เมื่อรู้ดังนั้นแล้ว แทนที่ปกติแล้ว เราจะจูงสุนัขออกไปเดินเล่นช่วงเย็น ช่วงที่เราเพิ่งกลับมาจากที่ทำงาน ให้ลองเปลี่ยนพาสุนัขไปเดินเล่นช่วงเช้าตรู่ดู แนะนำว่า ให้ปูแผนแต่เนิ่น ๆ ล่วงหน้าสัก 4 – 5 วัน เพื่อสุนัขจะได้ชินกับกิจวัตรที่เปลี่ยนไป
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางคืน ในฐานะเจ้าของและ “ทาส” ให้เฝ้ามองอยู่ตลอด สุนัขบางตัวที่แก่แล้ว อาจไม่ได้กลัวเสียงพลุก็จริง แต่อาจรำคาญต่อเสียงดังโหวกเหวก ไม่ต่างจากมนุษย์เท่าไร ให้เข้าใจแบบนั้น
ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า ไม่ว่าจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลใด ในยามที่ทุกคนกำลังเฮฮา อิ่มสุข และดื่มดำกับบรรยากาศความรื่นเริง แต่มันจะมีใครบางคนเสมอ ที่ไม่ชอบสังสรรค์ และขอเข้าไปทำอะไรของตัวเองอยู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ต่าง ๆ นั่นแหละ ฝากสัตว์เลี้ยงของเราไว้กับคนพวกนั้น
ขอเน้นย้ำเป็นการสำคัญว่า ให้หาคนอยู่กับสุนัขหรือแมวด้วย เพราะช่วงที่จุดพลุซึ่งจะกินเวลาประมาณ 15 – 20 นาที มนุษย์รื่นรม แต่สัตว์อมทุกข์ เป็นเวลาไม่กี่นาทีที่สัตว์เลี้ยงของเราจะทรมานมาก
การหาคนอยู่ด้วยก็เพื่อทำให้สัตว์เลี้ยงของเรารู้สึกปลอดภัย หรือคอยป้องกันมิให้สัตว์เลี้ยงของเราตื่นกลัวจนไปทำลายข้าวของในบ้านเสียหาย เคยมีบันทึกไว้ว่า สุนัขเมื่อตกใจสุดขีด สามารถกระโดดทะลุกระจกบ้านจนแตก แล้ววิ่งเตลิดออกไปนอกบ้าน เพราะกลัวเสียงพลุ
แบ่งปันเล็กน้อย หากจำเป็นต้องปล่อยให้สัตว์เลี้ยงร่วมดื่มด่ำบรรยากาศกับวงปาร์ตี้จริง ๆ หากมีกำลังทรัพย์มากพอ ให้ซื้อ Air Tag ติดเอาไว้ที่ปลอกคอก็จะช่วยป้องกันสัตว์เลี้ยงของเราวิ่งเตลิดไปจนตามหาไม่เจอ
ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล! เข้าใจดีว่าเสียงจากทีวีเครื่องกระจ้อยร่อย ไม่สามารถบดบังเสียงจากพลุที่ดังกระหึ่มทั่วเมืองได้ แต่อย่างน้อยมีภาพและเสียงคลอเคลียที่พอจะดึงดูดความสนใจของแมวหรือสุนัขของเราไปได้บ้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับใครก็ตามที่มักเปิดทีวีคลอเคลียให้สัตว์เลี้ยงของคุณอยู่แล้ว มีการบันทึกว่า คลื่นเสียงที่สัตว์เลี้ยงได้ยินจนชิน จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
เหมือนในความทรงจำของสัตว์ติเตือนไว้ว่า อ๋อ เมื่อเจ้าทาสเปิดเพลงนี้ แสดงว่าเพิ่งกลับมาจากข้างนอก ในสภาพเหนื่อย ๆ และพร้อมนอนหลับ สิ่งนี้อาจช่วยหลอกแมวให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้
แต่ย้ำว่า สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในคอนโดสูง ให้เช็กให้ดีว่าปิดหน้าต่างสนิทเรียบร้อยแล้วทุกบาน เพราะนอกจากจะป้องกันเสียงจากพลุแล้ว ยังช่วยขจัดกลิ่นกำมะถันได้ เพราะสัตว์อย่างแมวมีประสาทการดมกลิ่นที่ดีมาก
ปิดหน้าต่างแล้ว อย่าลืมปิดม่านด้วย เพราะสัตว์เลี้ยงอาจตื่นกลัวได้ หากเห็นการระเบิดบนท้องฟ้า เพราะสัตว์เลี้ยงของเราไม่รู้จักพลุ
เคยได้ยินไหมว่ากินได้กินของอร่อยสามารถช่วยลดความเครียดได้ กฎนี้ใช้กับสัตว์ได้เหมือนกัน แมวหรือสุนัขจะไม่มีความอยากอาหารเมื่ออยู่ในสภาวะเครียดหรือหวาดกลัว แต่หากเรานำของอร่อยมายั่วให้น้ำลายไหล ก็ช่วยกลับเกลื่อนความหวาดกลัว หรือดึงดูดความสนใจพลุที่ดังก้องทั่วท้องฟ้าไปได้
สิ่งที่คุณต้องเตรียมคือ เมนูโปรดของสัตว์เลี้ยงของคุณ มีไม้เด็ดอะไรนำออกมาใช้ให้หมด เมนูไม้ตายที่คิดว่าวางลงไปแล้วแมวหรือสุนัขของเราต้องพุ่งเข้าไปโซ้ยจนเกลี้ยงแน่นอน สิ่งนั้นแหละ นำมาวางตอนใกล้กับช่วงจุดพลุ อาหารเลิศรสช่วยได้เสมอ
วิธีนี้พบเห็นได้บ่อย คนไทยมักใช้ผ้าห่อแมวหรือสุนัขบ่อย ๆ บางรายโอ๋ยังกับเป็นลูกคนเล็กของบ้าน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดความวิตกในสัตว์เลี้ยงได้จริง ๆ
อันที่จริงแล้ว สุนัขไม่ได้ดีขึ้นเพราะผ้า แต่เขาไว้ใจเราต่างหาก หากเราเข้าประชิดด้วยท่าทีที่อบอุ่นอารี เขาสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ และเรามอบผ้าให้กับเขา เขาก็จะซุกในผ้าเพื่อหลบภัยจากเสียงพลุนั่นเอง
เตือนไว้ก่อนเลยว่า ให้เลือกใช้ยาเป็นวิธีสุดท้าย และเลือกใช้สำหรับสัตว์ที่คาดว่าจะเกิดอาการวิตกอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ก่อนจะเลือกใช้ยาควรไปปรึกษาการใช้กับแพทย์ก่อนเพื่อความแน่ใจ
สัตวแพทย์อาจสั่งฟิโรโมนสังเคราะห์เพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงรับมือกับความเครียด อาทิ พลุเทศกาล ทว่า อาจไม่ได้ผลกับสัตว์ทุกตัว
ในบางกรณี สำหรับสุนัขที่เกิดอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งยาสูตรที่ออกแบบมาเพื่อสุนัขของคุณโดยเฉพาะ อาทิ dexmedetomidine oromucosal gel ยาชนิดนี้เป็นยาที่ช่วยให้สุนัขรับมือกับเสียงดังได้ และเป็นยาที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA)
วิธีขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าสุนัขหรือแมวคือการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” เมื่อสัตว์เริ่มรู้สึกถึงภัยจากอะไรบางอย่าง สัญชาตญาณแรกคือ จะวิ่งหนีและหาที่หลบ
กล่าวคือ หากในบ้านของคุณมีพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงอยู่แล้วก็โอเคปกติ แต่หากยังไม่มีล่ะก็ ให้สร้างมุมเล็ก ๆ ไว้สำหรับสัตว์เลี้ยงของคุณไว้ก็ดี เพื่อให้น้องเกิดความเคยชิน เมื่อใดที่รู้สึกไม่ปลอดภัย สัตว์เลี้ยงของเราก็จะปรี่ตัวไปที่ safe zone ที่เราสร้างไว้ให้
Safe zone สามารถจะเป็นที่ใดก็ได้ทั้งนั้น ใต้เตียง บนโซฟา มุมห้อง แต่ไม่แนะนำให้ใช้กรงปิด เพราะจะยิ่งทำให้สัตว์เลี้ยงวิตกมากกว่าเดิม และสำคัญที่สุด หากจะสละเวลาสนุขสักครู่ แล้วมาให้ความอบอุ่นแก่สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักของเรา ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็คงไม่ได้เป็ยเรื่องหนักหนาอะไร สำหรับเราที่แอบอิงความน่ารักน้องหมาน้องแมว เพื่อช่วยฮีลใจในวันที่อ่อนล้ามาทั้งปี
สนุกมนุษย์ ต้องไม่เป็นทุกข์สัตว์เลี้ยง คือสิ่งที่อยากฝากไว้....
ที่มา: everyday health , The MIT Press Reader
เนื้อหาที่น่าสนใจ