svasdssvasds

หมออ๋อง ปดิพัทธ์ ยืนยันนั่งรองประธานสภาฯ ต่อ ชี้น้อมรับมติถูกขับจากก้าวไกล

หมออ๋อง ปดิพัทธ์  ยืนยันนั่งรองประธานสภาฯ ต่อ ชี้น้อมรับมติถูกขับจากก้าวไกล

ปดิพัทธ์ สันติภาดา" รองประธานสภาฯ แจกแจงให้รายละเอียดเหตุผล ยืนยันขอนั่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต่อไป ยืนยันไม่ข้ามขั้ว แต่ยังอุบ ไม่บอก จะย้ายไปอยู่พรรคไหน อย่างไรก็ตาม หมออ๋อง ต้องมี พรรคใหม่ ภายใน 30 วัน!

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ แจกแจงให้รายละเอียดเหตุผล ยืนยัน ขอนั่ง รองประธานสภา คนที่ 1 ต่อไป  พร้อมเปิดเหตุผล 3 ข้อเดินหน้าทำสภาฯ ให้ โปร่งใส สัญญาทำหน้าที่เป็นกลางกับทุกพรรคการเมือง ส่วนการตัดสินใจย้ายพรรค ยืนยันไม่ข้ามขั้ว แต่ยังอุบ ไม่บอก จะย้ายไปอยู่พรรคไหน อย่างไรก็ตาม หมออ๋อง ต้องมี พรรคใหม่ ภายใน 30 วัน! 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงในวันที่ 29 ก.ย. 2566 หลังมติพรรคก้าวไกลขับพ้นจากสมาชิกภาพ ตั้งแต่ค่ำคืนวันที่ 28 ก.ย. 66 โดยการขับ "หมออ๋อง" ครั้งนี้ จะเป็นการเปิดทางให้นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ รับตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาฯ ของฝ่ายค้าน 

ทั้งนี้ เรื่องราวของการถูกขับออกจากพรรคของ "หมออ๋อง" สืบเนื่องจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เปิดทางให้ที่ประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลได้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อจะทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นายปดิพัทธ์ ไม่สามารถทำหน้าที่ รองประธานสภาฯ ในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกลได้

แม้อีกทางเลือกหนึ่งคือการลาออกจากรองประธานสภาฯ เพื่อกลับไปเปฏิบัติหน้าที่เป็น สส. คนหนึ่ง แต่หลังจากการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ถ้าผมตัดสินใจเลือกลาออกจากรองประธานสภาฯ จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนวาระ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับ ประชาชน และ สภาฯ

จึงตัดสินใจ หลังจากพรรคก้าวไกลมี กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงแสดงความจำนงต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาคนที่ 1 ทำให้ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลได้อีกต่อไป

หมออ๋อง ปดิพัทธ์ ยืนยันนั่งรองประธานสภาฯ ต่อ ชี้น้อมรับมติถูกขับจากก้าวไกล

• เปิด 3 เหตุผลที่หมออ๋อง ประกอบการตัดสินใจรักษาเก้าอี้รองประธานสภาเอาไว้

1. ต้องการใช้วาระสภาขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง และเป็นสภาของประชาชน
2. ต้องการปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาอย่างเป็นกลางต่อทุกพรรค และต่อประชาชนทุกชุดความคิดไม่ว่าจะสังกัดพรรคใดก็ตาม ดังนั้น “การต้องเปลี่ยนต้นสังกัดจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่และแผนงานในสภาแน่นอน”
3. มั่นใจว่าพรรค ก.ก. มีความพร้อมและมีบุคลากรในการดูแลความทุกข์ร้อนของชาวพิษณุโลกเขต 1 ได้ และในการตัดสินใจได้สอบถามความเห็นประชาชนในเขตอย่างคร่าว ๆ แล้ว

แต่ในการทำงานในฐานะพรรค พรรคต้องตัดสินใจเอง และเชื่อว่าพรรคจะสามารถทำงานในฐานะของพรรคก้าวไกลในพิษณุโลกเขต 1 ได้ ยังมี สส. พรรคก้าวไกลในพิษณุโลกอีก 1 สส.เขต 5 และทีมงานที่อยู่กับทีมจังหวัดทั้ง 5 เขตก็จะทำงานควบคู่ไปกับการทำงานของผมในฐานะ รองประธานสภาฯ

 "ขอน้อมรับมติพรรคก้าวไกลที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้สมบูรณ์แบบ และพรรคก้าวไกลได้ตัดสินใจให้สมาชิกภาพของตัวเองสิ้นสุดลง จากนี้เป็นต้นไปไม่ว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด แจะผลักดันการทำงานในสภาอย่างเต็มที่ ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเป็นรองประธานสภาฯที่เป็นกลางกับทุกพรรคและรองประธานสภาของพี่น้องประชาชน"

• หมออ๋องยันไม่ข้ามขั้วพรรคการเมืองต่างอุดมการณ์

ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1  กล่าวอีกว่า การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลไม่ได้ตัดสินใจในระยะสั้น แต่มีการพูดคุยทางเลือกต่างๆ แต่การพูดคุยสิ้นสุดแล้ว และตัวเองได้มอบฉันทามติให้พรรคก้าวไกลว่าพร้อมรับมติขับพ้นพรรค

" หลังจากนี้ จะเป็นการตัดสินใจของตัวเองว่าจะไปอยู่พรรคไหน และต้องเป็นพรรคการเมืองที่สอดคล้องอุดมการณ์ของตัวเอง และไม่ข้ามขั้วไปอยู่กับพรรคการเมืองที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์แน่นอน"

ทั้งนี้ ปดิพัทธ์ ยอมรับความรู้สึกห้ามกันไม่ได้ แต่ด้วยพฤตินัยไม่ได้เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ตั้งแต่มารับหน้าที่รองประธานสภาฯ ความรู้สึกจึงถูกเตรียมการมาตั้งแต่ตอนนั้น และเป็นการตัดสินใจที่ดีในช่วงเวลานั้น

หมออ๋อง ปดิพัทธ์ ยืนยันนั่งรองประธานสภาฯ ต่อ ชี้น้อมรับมติถูกขับจากก้าวไกล

• หมออ๋อง ต้องหา พรรคใหม่ สังกัด ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ จากกรณี หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ถูกขับออกจากพรรคก้าวไกลนั้น เขาจำเป็นต้องมีพรรคใหม่ ภายใน 30 วัน เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 99 วรรคท้าย) แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (9) และ มาตรา 101 (10) ก็มี ข้อยกเว้นไว้ให้ สส. สามารถย้ายซบพรรคใหม่ได้ สองกรณี คือ 1) กรณีสส. ที่ถูกขับพ้นพรรค และ 2) พรรคที่สส. เป็นสมาชิกถูกยุบพรรคหรือเลิก รายละเอียดดังนี้
 
1) กรณีสส. ถูกขับพ้นพรรคการเมือง - มาตรา 101 (9) กำหนดไว้ว่า กรณีที่ สส. พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก ตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและสส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ถ้าหากสส. คนที่ถูกขับพ้นพรรค ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ สส. คนนั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น 30 วันดังกล่าว ดังนั้น หาก สส. ที่ถูกขับออกจาพรรค รีบดำเนินการย้ายเข้าพรรคใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติขับออกจากพรรค สส. คนนั้นก็จะยังมีสถานะเป็น สส. ต่อไป ภายใต้สังกัดพรรคการเมืองใหม่
 
2) กรณีพรรคที่ สส. เป็นสมาชิกถูกยุบพรรคการเมือง - มาตรา 101 (10) กำหนดไว้ว่า สมาชิกภาพของสส.สิ้นสุดลงเมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคที่สส. ผู้นั้นเป็นสมาชิก และสส. ผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง สส. ผู้นั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น ทั้งนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคท้าย กำหนดว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองหรือการที่พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับพรรค ให้ถือเป็นการยุบพรรคการเมืองด้วย เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกพรรคที่เป็น สส.

โดย กรณีของ หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา จะเข้าล็อกกับกับ กรณีสส. ถูกขับพ้นพรรคการเมือง - มาตรา 101 (9) กำหนดไว้ว่า กรณีที่ สส. พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก รีบดำเนินการย้ายเข้าพรรคใหม่ ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ พรรคเต็ง 1 ที่คาดหมายว่า หมออ๋อง จะย้ายไปอยู่ด้วยนั้น น่าจะเป็น พรรคเป็นธรรม พรรคร่วมฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกล โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม แสดงท่าทีอย่างชัดเจน พร้อมอ้าแขนรับ "หมออ๋อง"  โดยย้ำว่า  พรรคเป็นธรรม  เปิดประตูให้ทุกบาน ไม่หวั่นถูกมองเป็นพรรคสำรอง ชี้ ร่วมอุดมการณ์ทำงานฝ่ายค้านเชิงรุกกับพรรคก้าวไกลได้ 

สำหรับการ ขับ "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากพรรคก้าวไกลนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งหมากการเมือง ที่หลายๆคนคาดการณ์เอาไว้แล้ว เพราะหากจะรักษาตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" ไว้  ซีเนริโอ ขับหมออ๋อง ยังไงก็ต้องเป็นแบบนี้!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related