อาจารย์ "วันนอร์" ถก 3 ฝ่าย เคาะกรอบเวลาแถลงนโยบายรัฐบาล - "วิปรัฐบาล" เสนอใช้ 2 วัน วันที่ 11 และ 12 กันยายน 2566 รวม 20 ชม. แบ่งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ครม. สว. ฝ่ายละ 5 ชม. เท่าเทียมกัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย หรือ วิป 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อวางกรอบเวลาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา และแบ่งสัดส่วนเวลาของแต่ละฝ่ายในการอภิปราย ซึ่งเบื้องต้น มีการกำหนดวันแถลงนโยบายไว้ ระหว่างวัน 11-12 กันยายน 2566 นี้
ด้าน นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะว่าที่ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลตกลงที่จะแถลงนโยยายในวันที่ 11 กันยายนนี้ และจะแบ่งสรรเวลาแต่ละฝ่ายของ สส.ฝ่ายค้าน รัฐบาล วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี โดยจะเสนอแบ่งฝ่ายละ 5 ชั่วโมง เพื่อความเป็นธรรม และเสมอภาค เพื่อให้การแถลงนโยบายผ่านไปด้วยดี พร้อมชี้แจงถึงฝ่ายค้านว่า การแถลงนโยบายครั้งนี้ ไม่ใช่การอภิปรายไม้ไว้วางใจ เป็นเพียงการติชมนโยบายเท่านั้น
ส่วนที่พรรคก้าวไกลกังวลรัฐบาล จะรวบรัดให้เวลาวันแถลงนโยบายเพียงเดียวนั้น นาย อดิศร เพียงเกษ ยอมรับว่า ตนเองก็กังวล แต่ขอพรรคก้าวไกล เพราะพรรคเพื่อไทย ก็เคยเป็นฝ่ายค้านมาก่อน จึงต้องการฟังกระจกเงาสะท้อนการทำงานจากฝ่ายค้านด้วย เพราะหากรัฐบาลไม่มีกระจกเงา ก็จะทำงานลำบาก
ส่วนการแถลงนโยบาย รัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน จะให้ระยะเวลาการอภิปรายถึง 2 วันหรือไม่นั้น นายอดิศร เพียงเกษ ย้ำว่า จะแบ่งการอภิปราย 20 ชั่วโมง ซึ่งตามเวลาอาจคาบเกี่ยว 2 วัน เพราะวันเดียวอาจไม่แล้วเสร็จ และวันเดียว อาจจะสั้นเกินไป
อดิศร เพียงเกษ จากเพื่อไทย ยืนยันด้วยว่า ในการ แถลงนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้เตรียมการตั้งรับใดมาก เพราะเป็นเพียงการแถลงนโยบาย แม้ สส.บางคนอยากจะใช้เวทีนี้ เป็นเสมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็ไม่เป็นไรอาจจะมีล้ำเส้นบ้างเป็นธรรมดา และขอให้ฝ่ายค้าน อดทนรอ 4-5 เดือน ก็จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมเปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับใด ๆ เป็นพิเศษ และให้อิสระ สส.ทำหน้าที่ เพื่อให้สภาทำงานราบลื่น และพร้อมมาตอบข้อซักถาม ไม่ต้องตั้งองค์รักษ์พิทักษ์รัฐมนตรีแต่อย่างใด
ขณะที่ ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล ซึ่งถือว่าเป็นพรรคที่มี สส.มากที่สุดใน สภา หลังการเลือกตั้ง 2566 ได้เตรียมข้อมูล และ สส.ที่จะอภิปรายไว้แล้ว อาทิ นายชัยธวัช ตุลาธน, นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล, นายรังสิมันต์ โรม และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อของพรรค
ด้าน พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ยังไม่มีการวางตัวบุคคลว่า จะให้ใครเป็นผู้อภิปราย โดยขอดูความชัดเจนในกรอบเวลา ที่จะให้ สส.แต่ละฝ่ายอภิปรายก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รถไฟฟ้า 20 บาท ทำตอนไหน ? เมื่อเศรษฐา สุริยะ พูดไม่ตรงกัน ความกำกวมจึงเกิดขึ้น
เช็กไทม์ไลน์ นโยบายเพื่อไทย ครม. เศรษฐา1 จะเริ่มจริง ลุยจริงเมื่อไร ?