svasdssvasds

สรุปให้ ดราม่า ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ล่าสุดความคิดเห็นจากหลายมุม

สรุปให้ ดราม่า ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ล่าสุดความคิดเห็นจากหลายมุม

สรุปให้ ดราม่า ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ล่าสุดความคิดเห็นจากหลายมุม ทั้งจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย , วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และล่าสุด ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เรื่องการ ปรับเบี้ยผู้สูงอายุ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง หลังจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ ที่จ่ายให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ล่าสุด รมว.มหาดไทยชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอทางคณะกรรมการผู้สูงอายุกำหนดเกณฑ์การจ่าย สำหรับประเด็นเรื่องสวัสดิการเรื่องนี้ เรียกสปอร์ตไลท์ เรียกแสง และเกิดแรงกระเพื่อมได้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา 

โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุ "เบเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.เป็นผู้จ่าย

กระทรวงมหาดไทยก็ต้องออกระเบียบเพื่อให้ อปท.สามารถจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ได้ แต่จะจ่ายได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนด เมื่อกำหนดแล้ว อปท.จึงจะจ่ายได้ กระทรวงมหาดไทยก็ต้องไปออกระเบียบให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด 

ส่วนกรณีที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล  แสดงความเห็นว่า เรื่องการปรับ เบี้ยผู้สูงอายุ ของรัฐบาลรักษาการ  เป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ยังไม่มีการทำอะไรเลยจนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมา เพราะฉะนั้นที่พูดไปเป็นความเข้าใจผิด ก่อนจะถามกลับว่า ถ้าให้เลย ตนได้ด้วยนะ ตนอายุ 70 ก็ได้ 700 ด้วย เหมาะสมหรือไม่ที่ตนจะได้

สรุปให้ ดราม่า ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ล่าสุดความคิดเห็นจากหลายมุม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ระหว่างรอระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา หน่วยงานท้องถิ่นจะดำเนินการอย่างไรนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ถ้าถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกัน เนื่องจากถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะค่อนข้างวุ่นอีก รวมถึงยังมีกรณีบุคคลที่ไม่ควรจะได้ด้วย

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านระเบียบดังกล่าว โดยชี้ว่าจะเป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล เป็นระบบที่รัฐบาลเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ หรือแบ่งคนรวยคนจน ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว

แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าว ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2564 กรณีมีผู้สูงอายุจำนวนมากรับบำนาญพิเศษ ซ้ำซ้อนกับการรับเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นเหตุให้กรมบัญชีกลางทยอยเรียกเงินคืนย้อนหลัง ซึ่งจากการตรวจสอบภายหลังพบนับหมื่นราย กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทั่งกรมบัญชีกลางมีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะต้องเรียกเงินคืนหรือไม่ 

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ต้องคืนเงิน ส่วนกรณี อบต.เรียกคืนมาแล้ว ให้คืนเงินจำนวนนั้นกลับไปให้ผู้สูงอายุ และในย่อหน้าสุดท้ายของความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

นอกเหนือจากประเด็นที่กรมบัญชีกลางสอบถามไปว่า ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ "รีบ" แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีสถานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล มีข้อเสนอแนะออกมาเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับแก้ตามข้อเสนอแนะดังกล่าว หากไม่ทำก็เสี่ยงที่จะมีปัญหากับหน่วยงานด้านการตรวจสอบ เช่น สตง. ปปช. เป็นต้น

ปิดท้ายที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ถาม บิ๊กป๊อก ‘อนุพงษ์  เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย เอา ‘เบี้ยบำนาญ’ ตัวเองไปตัดสิน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ คนอื่น เป็นวิธีคิดที่ถูกต้องหรือไม่ จี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน 

“สิ่งที่เขาต้องการพูดว่ามีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ใช้งบประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เพราะยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้ที่เราลงพื้นที่ระยองก็ยังมีความกังวลใจกัน ความชัดเจนเท่าที่เห็น ผมอ่านจากบีบีซีไทยว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลรักษาการจะสามารถลดลงประมาณ 5 ล้านคน ประหยัดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ผมฟังแล้วผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรือดำน้ำก็ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วความท้าทายในการใช้เรือดำน้ำต่อสู้แทบจะไม่มี แต่ความท้าทายของสังคมสูงวัยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มงบประมาณรับมือสังคมสูงวัย เทรนด์โลกเป็นแบบนั้น

“น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เปิดและทำงานประชุมเต็มรูปแบบ ยังไม่มีกระทู้ถาม ไม่เช่นนั้นจะให้ สส.ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอนุพงษ์วันพฤหัสนี้ ว่าแท้จริงแล้วมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร กระทบกี่คน ทำไมไม่มีงบประมาณ และจะใช้กฎเกณฑ์อะไร จะตกสำรวจหรือไม่ และทำไมสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจนถึงทำไม่ได้ จึงขอฝากพี่ๆ สื่อมวลชน เหมือนเราตั้งกระทู้กันสดๆ แบบนี้” นายพิธา กล่าว 

สุดท้าย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทิ้งท้ายถึง พล.อ.อนุพงษ์ รัฐมนตรีรักษาการกระทรวงมหาดไทยว่า การเอาความรู้สึกของคนเป็นรัฐมนตรีว่ามีบำนาญเท่าไร แล้วเอาไปตัดสินแทนพี่น้องประชาชน ชาวระยอง แกลง เขาชะเมา เป็นวิธีกระบวนการคิดที่ถูกต้องหรือไม่
 

ขณะที่ "นายกฯ" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ซัดพวกไม่เคยเป็นรัฐบาล โจมตีปม "ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ" ใหม่ ย้อนถามกลับ เข้าใจแต่แกล้งไม่เข้าใจหรือไม่ ยัน! คนที่ได้อยู่แล้วก็ได้เหมือนเดิม แต่ต้องวางแผนสู่อนาคต เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

"อย่าไปฟัง! หลายๆอย่างมาจากคนที่ไม่เคยทำ และไม่เคยเป็นรัฐบาล"

related