เปรียบเทียบ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 ฉบับใหม่ มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุอย่างไร มีเงื่อนไขเพิ่มเติมอะไรบ้าง มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566
อัปเดต “เงินผู้สูงอายุ” ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย เปิดหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฉบับล่าสุด ที่ปรับปรุงว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีการปรับปรุงดังต่อไปนี้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566
• สัญชาติไทย
• มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
• อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
• เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างออกไปจากหลักเกณฑ์เดิมนั้น คือการที่หลักเกณฑ์เดิมระบุว่า ผู้ที่มีสิทธิ์รับเงินผู้สูงอายุ จะต้องเป็นผู้ที่ไม่รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการ และผู้ป่วยเอดส์ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพของอค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ข่าวดี! ครม.เพิ่มวงเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายละ 100-250 บาท นาน 6 เดือน
• “เงินผู้สูงอายุ” โอนเข้าวันนี้ 19 ก.ค. งวดแรกรวบ 4 เดือน เช็กเงินผู้สูงอายุ
• 7 วิธีดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ต้อนรับฤดูหนาว
ขั้นตอนการยืนยันสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566
บุคคลที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ให้ยืนยันสิทธิโดยไม่ต้องลงทะเบียน และให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอำนวยความสะดวกโดยการแจ้งไปยังผู้สูงอายุที่มีสิทธิ หากผู้สูงอายุมีประสงค์ที่จะรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้แนบเอกสารข้อมูลเพื่อยืนยันสิทธิของตนเองไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
• แบบยืนยันสิทธิการขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับกรณีที่ผู้ประสงค์ร้องขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
• ในกรณีมีความจำเป็นที่ผู้สูงอายุไม่สามารถแจ้งความประสงค์การรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองได้ตามวรรคหนึ่ง อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้บุคคลอื่นเป็นผู้ไปแจ้งความประสงค์การรับเงินเบี้ยยังชีพแทนผู้สูงอายุก็ได้
สิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
• ตาย
• ขาดคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ข้างต้น
• แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับบุคคลดังกล่าว
หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน
รวมทั้งมีบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ระบุว่าบรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว
สำหรับการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 ภาครัฐจะโอนเงินให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน ซึ่งถ้าวันที่ 10 ของเดือนนั้นๆ หากตรงกับวันหยุดราชการจะจ่ายให้ในวันทำการก่อนวันหยุดนั้น และเป็นการจ่ายรายเดือนแบบขั้นบันได ดังนี้
• ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
• ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
• ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
• ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กในประเด็น “เรื่องใหญ่ ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหา ต้องมาพิสูจน์ความจน” ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่
โดยแต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน (อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000) แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แม้ว่าในบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 66 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่หลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะทยอยอายุครบ 60 ปี ในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีคำถามต่อว่า จะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไร ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ
ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจน นั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในมาตรา 11 (11) ของพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดเอาไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน นั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้
การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการ ที่แย่มากๆ เป็นการวางยาทิ้งทวน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติวิสัยของรัฐบาลรักษาการ นั้นไม่ควรทำ ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูต่อไป ว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อ จะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้
ทางฝั่งของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงประเด็นการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยระบุว่า
ขอคัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ทำลายหลักการ รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
การเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล แต่เป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดนั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว
ลดทอนคุณค่ามนุษย์
แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นจนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอีกกว่า 6 ล้านคนด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงินแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจนทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ
“รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณหรือมาแบ่งคนจนคนรวย” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
เครือข่ายบำนาญประชาชน 3.2 ล้านคน จะขอคัดค้านระเบียบนี้อย่างเต็มที่
พรรคไทยสร้างไทยพร้อมด้วยเครือข่ายบำนาญประชาชนกว่า 3.2 ล้านคนจะคัดค้านระเบียบกระทรวงนี้อย่างเต็มที่ และจะสนับสนุนให้เกิดบำนาญประชาชนที่มอบเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทให้กับคนไทยตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้อย่างสุดความสามารถ เพื่อเป็นการตอบแทนดูแลผู้สูงวัยที่ทุ่มเททำงานให้กับประเทศชาติและลูกหลานในสังคมมาทั้งชีวิต และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแรงจากฐานราก ซึ่งตอนนี้ร่างกฎหมายบำนาญประชาชนถูกยื่นไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้วก่อนการเลือกตั้ง และรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาต่อไป
ที่มา : ระเบียบกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) , Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan