เปิดขั้นตอนการโหวตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันที่ 13 ก.ค. 66 นี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ พิธา ต้องไปให้ถึง 376 เสียง แล้ววันนั้น จะมีเหตุการณ์ใดบ้างในการเลือกผู้นำประเทศ เช็กเลย
การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ซึ่งจะได้ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ หรือไม่นั้น วันที่ 13 ก.ค. 2566 จะเป็นด่านแรกของการหาคำตอบ
ณ เวลานี้ สปอร์ตไลท์ทุกดวงต่างสาดแสงไปที่ เหตุการณ์ วันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา นัดวันโหวตนายกรัฐมนตรี ที่แน่นอนว่ามีชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มัดรวม 312 เสียง จะทำการโหวต
ขวากหนามสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ซึ่งจะนำโดยพิธา ก็คือ จะต้องมีเสียงสนับสนุนให้ถึง 376 เสียง โดย พรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง 8 พรรค มีอยู่ทั้งสิ้น 312 เสียง หักเสียง ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ไปดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. ของพรรคก้าวไกลที่ลาออกไป
ทำให้ ณ ขณะนี้ มีเสียงสนับสนุนนายพิธา คงเหลือ 310 เสียง ยังขาดอยู่ 66 เสียง ถึงจะได้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง ตามที่รัฐสภากำหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โหวตนายกฯ 2566 วันไหนบ้าง แค่วันที่ 13 ก.ค. วันเดียวหรือไม่ ?
งานนี้รอบแรก หากการโหวตสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังฝ่าไปไม่ได้ ก็จะมีการเสนอชื่อนายพิธาอีกเป็นรอบที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค.และ 20 ก.ค. แน่นอน ส่วนจะมีรอบ 3 อีกหรือไม่ ใช้คำว่าต้องมาหารือกันในสภาและ 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
อันนี้ เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ว่าผลลัพธ์ลงท้ายจะเป็นเช่นไร แต่ในเบื้องต้น ก่อนถึงวันที่ 13 ก.ค. พี่น้องประชาชน คอการเมืองส่วนใหญ่ ตอนนี้ สนใจ "พิธา" จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รวมทั้ง อยากทราบขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรี ด้วย
เปิดขั้นตอนการโหวตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย
หลังเลือกตั้ง กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งเรียบร้อย ส.ส.ทั้งสภาฯ มี 500 คน โดยปกติ พรรคการเมืองใด หรือขั้วการเมืองไหน ได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งสภาผู้แทนฯ ก็สามารถรวมเสียงจัดรัฐบาล เลือกนายกฯ กันได้
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดว่า "ในระหว่าง 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรกนี้ มติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภา และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา"
- สภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส. มีจำนวน 500 คน วุฒิสภา หรือ ส.ว. มีจำนวน 250 คน สองสภารวมกัน 750 คน กึ่งหนึ่งคือ 375 คน
- ดังนั้น นายกฯ จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งจาก 2 สภารวมกัน ก็คือ 376 คนขึ้นไป
- การเลือกนายกฯโดยเปิดเผย โดยเรียกชื่อ สมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ตามวิธีที่ประธานกำหนด
การเสนอโหวต นายกฯ คนที่ 30 มาด้วยช่องทางใด
ตามกรอบกฎหมายระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อ (ตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ
1. นายกฯ จากบัญชีพรรค โดยช่วงเปิดสมัคร ส.ส. กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ มาด้วยไม่เกิน 3 รายชื่อ หรือบางพรรคจะไม่ส่งบัญชีนายกฯ เลย ก็ทำได้
เบื้องต้นในการโหวตนายกฯ ต้องเป็นชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรค ที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5 % หรือจากพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน
ถึงขณะนี้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคต่าง ๆ ที่ยังมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อต่อรัฐสภา มีทั้งสิ้น 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่
พรรคก้าวไกล - นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พรรคเพื่อไทย - น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน, นายชัยเกษม นิติสิริ
พรรคภูมิใจไทย - นายอนุทิน ชาญวีรกูล
พรรคพลังประชารัฐ - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พรรครวมไทยสร้างชาติ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พรรคประชาธิปัตย์ - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
และการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีพรรค ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (หรือมี ส.ส. 50 คน รับรอง)
การลงมติโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา กำหนด+ให้ ขานชื่อ แบบเปิดเผยเรียงลำดับตามตัวอักษร ตามที่ประธานกำหนด
และกระบวนการโหวตนายกฯ ตามกฎหมาย ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งจาก 2 สภารวมกัน ส.ส. + ส.ว. กึ่งหนึ่งคือ 750 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งก็คือ 376 เสียงขึ้นไป ใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็ได้เป็นนายกฯ
2. นายกฯ นอกบัญชีพรรค คือไม่อยู่ในบัญชีที่พรรคได้แจ้งไว้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อ.. การเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคไม่สามารถเลือกได้.. ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ
รัฐธรรมนูญเขียนเปิดช่องให้ สมาชิก 2 สภา รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 375 คน สามารถเข้าชื่อเสนอให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อยกเว้นเงื่อนไขเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรค และหาก 2 สภามีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน รัฐสภาก็สามารถเลือก นายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีพรรคได้
ซึ่งกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ นอกบัญชีพรรค... ก็ใช้เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งจาก 2 สภารวมกัน นั่นคือ 376 คนขึ้นไป ก็ได้เป็นนายกฯ
ทั้งนี้ ด้วยกติกาการ โหวตนายกฯ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ คือ นับจากปี 2562-2567 ให้ ส.ว. เข้ามาร่วมโหวตนายกฯ ไปด้วย ดังนั้น ใคร? จะมาเป็นนายกฯ ถ้าได้เสียงสนับสนุนจาก วุฒิสภา ที่มี 250 เสียง ก็ถือว่ามีแต้มต่อ (ซึ่ง ส.ว. คัดเลือกโดย คสช. หรือ 3 ป. เป็นคนเลือกมากับมือ)