svasdssvasds

โหวตเลือกนายกฯ พิธา ได้กี่รอบ ? เปิดดูข้อกำหนด การเลือกผู้นำประเทศ

โหวตเลือกนายกฯ พิธา ได้กี่รอบ ? เปิดดูข้อกำหนด การเลือกผู้นำประเทศ

กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมสนใจและให้ความสำคัญ สำหรับการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นี้ โดยสิ่งที่ผู้คนสนใจก็คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ แล้วทางการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ได้เสียงสนับสนุนจากส.ว. เพียงพอแล้ว หรือยัง ?

ล่าสุด มี 2 นักการเมือง จากทั้ง 2 ขั้ว ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อ ประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ทั้งจากฝั่งเพื่อไทย ที่เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และฝั่งรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามกัน

• ธนกร ชี้ โหวตนายกฯ  ไม่ใช่เลือกหัวหน้าชั้นเรียน  

โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ ประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ 

โดย เมื่อถามว่า นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่าจะให้เวลาการโหวตเลือกนายกฯของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึง 3 ครั้ง นายธนกร วังบุญคงชนะ ให้ความเห็นว่า ถ้าตามที่นายพิเชษฐ์บอกว่าวันที่ 13 ก.ค.นี้จะเป็นการนัดเลือกนายกฯนัดแรกก็ถือว่ามีเวลามากถึง 7 วัน และที่ผ่านมากว่า 1 เดือน ก็คิดว่าเพียงพอสำหรับการเจรจาขอคะแนนสนับสนุนจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ส่วนตัวจึงมองว่าการโหวตครั้งเดียวก็พอที่จะเห็นทิศทางการเมืองแล้วว่าจะเป็นอย่างไร

โหวตเลือกนายกฯ พิธา ได้กี่รอบ ? เปิดดูข้อกำหนด การเลือกผู้นำประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ให้ความเห็นว่า หากคะแนนของทั้ง 2 สภาโหวตให้นายพิธาไม่ถึง 376 เสียง ครั้งที่ 2 ควรจะให้ที่เป็นลำดับที่ 2 เสนอชื่อต่อไป ไม่ใช่เสนอชื่อคนเดิม 2-3 ครั้ง มันไม่ใช่เลือกหัวหน้าชั้นเรียน เพราะขนาดเลือกหัวหน้าชั้นเรียนยังเลือกแค่ครั้ง ยกเว้นคะแนนเท่ากัน หากจะเสนอชื่อนายพิธาอีกเป็นครั้งที่ 2 ก็ต้องมีองค์ประกอบ หรือมีเงื่อนไขใหม่เพิ่มให้สภาพิจารณา หากไม่มีอะไรใหม่ คิดว่าให้โอกาสครั้งเดียวก็พอ เพื่อไม่ให้เสียเวลาสภา

ถ้าครั้งแรกเสียงไม่ถึงก็ไม่ควรดันทุรังดึงดันเสนอซ้ำเป็นครั้งที่ 2-3 อีก เพราะเวลาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะยิ่งถูกดึงเวลาให้ยาวออกไป ก็จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับล่าช้าออกไปด้วย จึงเรียกร้องให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลเร่งใช้เวลาที่มีอยู่ 7 วันก่อนที่จะโหวตนายกฯครั้งนี้ ขอการสนับสนุนให้มากที่สุดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้ แต่ประเด็นแก้ไขยกเลิกมาตรา 112 ก็อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ ส.ว.ต้องพิจารณาทบทวน”

ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายธนกร วังบุญคงชน  ชี้ โหวตนายกฯ  ไม่ใช่เลือกหัวหน้าชั้นเรียน  ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ย้ำโหวตนายกฯ มันไม่มีกำหนด จะเสนอได้กี่ครั้งก็ได้ .

• จาตุรนต์ ฉายแสง ย้ำโหวตนายกฯไม่มีกำหนดเสนอได้กี่ครั้ง 

ขณะเดียวกัน จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นถึงขั้นตอนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้  ถ้าหากการประชุมรัฐสภาครั้งแรกไม่สามารถได้มติที่เพียงพอสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ประธานรัฐสภา ก็ควรจะมีการนัดประชุมครั้งต่อไป เพราะเมื่อถึงวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะเสนอบุคคลใด ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ว่า จะเสนอใครได้กี่ครั้ง

"เพราะประธานรัฐสภา ไม่ใช่ผู้กำหนดว่า จะเสนอรายชื่อบุคคลใดได้กี่ครั้ง และพรรคการเมืองอื่นฝั่งตรงข้าม ก็จะเสนอบุคคลอื่นแข่งด้วยก็ได้เช่นกัน"

ส่วนกรณีของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับการหารือ และจะเสนอชื่อ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ได้ เพราะประธานรัฐสภาไม่ใช่ผู้กำหนดว่า จะเสนอรายชื่อบุคคลใดได้กี่ครั้ง และพรรคการเมืองอื่นฝั่งตรงข้าม ก็จะเสนอบุคคลอื่นแข่งด้วยก็ได้เช่นกัน

จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

 •  รัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนด  จะโหวตนายกฯ ซ้ำคนเดิมกี่รอบก็ได้ 

เรื่องการโหวตเลือกนายกฯ นั้น  รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคุณสมบัติครบถ้วน 

ส่วนจะให้โหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์จากพรรคก้าวไกล ได้มากสุดกี่ครั้ง  อาจารย์ "วันนอร์" ประธานรัฐสภา เผยว่าไม่สามารถบอกได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าหากโหวตชื่อนายพิธาไม่ผ่านในครั้งแรกจะไม่สามารถเสนอชื่อโหวตในครั้งที่ 2 ได้  โดย อาจาร์ "วันนอร์" ยืนยันสามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้อีก เพียงแต่อาจจะมีการเสนอชื่อบุคคลอื่นมากกว่า 1 ชื่อก็ได้

สำหรับบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือมี ส.ส. มากกว่า 25 คนขึ้นไป

ถึงขณะนี้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคต่าง ๆ ที่ยังมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อต่อรัฐสภา มีทั้งสิ้น 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่

พรรคก้าวไกล - นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พรรคเพื่อไทย  - น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน, นายชัยเกษม นิติสิริ
พรรคภูมิใจไทย  - นายอนุทิน ชาญวีรกูล
พรรคพลังประชารัฐ  - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พรรครวมไทยสร้างชาติ  - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พรรคประชาธิปัตย์  - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
 

related