svasdssvasds

Moody's ปรับลดเครดิตเรตติ้ง "ไทย" จากที่มีเสถียรภาพสู่ "เชิงลบ"

Moody's ปรับลดเครดิตเรตติ้ง "ไทย" จากที่มีเสถียรภาพสู่ "เชิงลบ"

Moody's หั่นแนวโน้มเครดิตเรตติ้ง 'ไทย' ลงสู่ ‘เชิงลบ’ ลดคาดการณ์จีดีพีจาก 2.9% เหลือ 2% ห่วงภาษีทรัมป์ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย แต่ยังคงอันดับไว้ที่ Baa1

มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) บริษัทจัดอันดับเครดิต ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง "เชิงลบ" (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) โดยการเปลี่ยนมุมมองครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลง แต่ Moody's ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1

Moody's เปิดเผยว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้า และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจเปิดด้วย นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูงมากว่าสหรัฐจะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับไทย และประเทศอื่นๆ หรือไม่ หลังจากระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันสิ้นสุดลง 

การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหลังการระบาดใหญ่ของโควิด เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้แนวโน้มการเติบโตของประเทศลดลง และแรงกดดันด้านลบนี้เองจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ "สถานะทางการคลัง" ของรัฐบาลอ่อนแอลงอีก หลังจากที่แย่ลงอยู่แล้วนับตั้งแต่การระบาดใหญ่

การเติบโตในระยะสั้นของไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมากจากความเสี่ยงด้านการส่งออกไปยังสหรัฐ ข้อมูลล่าสุดจาก OECD ระบุว่า มูลค่าเพิ่มภายในประเทศของไทยในการส่งออกรวมไปยังสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของจีดีพีในปี 2020 

Moody\'s ปรับลดเครดิตเรตติ้ง \"ไทย\" จากที่มีเสถียรภาพสู่ \"เชิงลบ\"

นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับ "ผลกระทบทางอ้อม" ผ่านการมีส่วนร่วมใน "ห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาค" ซึ่งไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ขณะที่แรงกดดันการเติบโตของไทยจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หาก "การส่งออกส่วนเกินของจีน ถูกเบนเข็มมายังประเทศไทยมากขึ้น" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในประเทศ

Moody's คาดว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐจะทำให้ "ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง" ส่งผลให้การลงทุนในหลายประเทศรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2561-2562 (รัฐบาลทรัมป์ 1.0) ได้ฉุดให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของไทยในปี 2562 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2561  

รวมไปถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย ยังเพิ่มความเสี่ยงด้านลบต่อการเติบโตของไทย ความกังวลด้านความปลอดภัยนี้อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่ชะลอตัวลงอยู่แล้วจากกรณีข่าวดารานักแสดงชาวจีนก่อนหน้านี้

ภายใต้ปัจจัยเหล่านี้ การเติบโตในระยะสั้นของไทยที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะยิ่งทำให้ความท้าทายเชิงโครงสร้างของไทยที่มีอยู่แล้วเลวร้ายลง และฉุดให้การเติบโตตามศักยภาพของไทยลดลงต่อไป

ในภาพรวมMoody's ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยในปี 2568 ลงเหลือประมาณ 2% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.9% เมื่อหกเดือนก่อน และการปรับลดประมาณการจีดีพีไทยในครั้งนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะลดลงได้อีก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงเปลี่ยนแปลง และมีความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง

แรงกดดันด้านลบต่อการเติบโตของไทยยังเพิ่มความเสี่ยงที่ "สถานะทางการคลัง" ของไทยจะอ่อนแอลงอีก หลังแย่ลงอยู่แล้วตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด ภาระหนี้ของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 22% หลังปีงบประมาณ 2562 ไปอยู่ที่ประมาณ 56% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2567 

การฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทยกำลังเป็นอุปสรรคต่อการลดหนี้ และรัดเข็มขัดทางการคลัง ในแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2567 (ก่อนการประกาศภาษีศุลกากรของสหรัฐ) ส่งสัญญาณถึงความล่าช้าออกไปอีกในการลดหนี้ และรายจ่ายทางการคลัง เมื่อเทียบกับ MTFF ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยรวมแล้ว Moody's คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของไทยจะเพิ่มแรงกดดันต่อภาระหนี้ของรัฐบาล แต่ความเสี่ยงต่อสถานะทางการคลังของประเทศสามารถบรรเทาลงได้ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ของรัฐบาล และกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related