SHORT CUT
ไทยกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญด้วยร่างกฎหมายกาสิโนภายใต้รูปแบบสถานบันเทิงครบวงจร ที่อาจพลิกโฉมให้ไทยให้กลายเป็นหนึ่งในตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
IAG สื่อด้านการวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกมและกาสิโนในเอเชีย เผยบทวิเคราะห์ "สถานบันเทิงครบวงจร" ระบุไทยมีโอกาสเป็นตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมชี้บทเรียนจากญี่ปุ่นที่น่าสนใจ
ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลพยายามผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร" หรือ ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายพ้นมือรัฐบาล อยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่ง "Inside Asian Gaming หรือ IAG" ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำด้านการวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกมและกาสิโนในเอเชีย เกาะติดในนโยบายและโครงการนี้ของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะนี้จะเป็นการเปิดทางให้มีคาสิโนถูกกฎหมายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ภายใต้รูปแบบรีสอร์ทแบบบูรณาการ (Integrated Resort) ที่มีองค์ประกอบครบวงจร
IAG ได้ออกรายงานพิเศษในเชิงบทวิเคราะห์ในหลายแง่มุม เขียนโดย Andrew W Scott และ Ben Blaschke เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 โดยตอนหนึ่งของบทวิเคราะห์ระบุว่า โครงการนี้ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในโอกาสการลงทุนที่น่าตื่นเต้นที่สุดไม่เพียงในภูมิภาคเอเชียแต่อาจรวมถึงระดับโลก
IAG ระบุว่า ได้ติดตามพัฒนาการในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่าสองทศวรรษ โดยเฉพาะในช่วงสามปีครึ่งที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐสภาไทยประกาศแผนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนารีสอร์ทแบบบูรณาการในช่วงปลายปี 2564
แม้ในระยะแรกจะดูเป็นโครงการที่ทะเยอทะยานเกินไป แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อรัฐบาลดูเหมือนจะมีความมุ่งมั่นในการผลักดันกฎหมายกาสิโนให้เป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้
ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของไทยยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงการคลัง (ณ เวลาที่เขียน) เพื่อปรับแก้ไขครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อทบทวนอีกครั้ง หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นขั้นตอนสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายยังคงระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุน โดยรอดูรายละเอียดของกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น
IAG ให้ข้อมูลด้วยว่า บทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยควรพิจารณามาจากกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงแรกมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมประมูลมากกว่า 20 ราย แต่สุดท้ายหลงเหลือเพียงรายเดียว
กรณีของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่ขาดประสบการณ์กับรีสอร์ทแบบบูรณาการระดับนานาชาติมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อาจตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวดเกินไปจนทำให้นักลงทุนถอนตัว
จากการประเมินของ IAG คาดการณ์ว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 15 รายทั่วโลกที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมประมูลในประเทศไทย โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่
1. กลุ่มที่ยังไม่มีแผนเข้าร่วมในปัจจุบัน
2. กลุ่มที่รอความชัดเจนของกฎหมาย
3. กลุ่มที่กำลังติดตามโอกาสนี้อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม IAG คาดการณ์ว่า จำนวนผู้สมัครสุดท้ายที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 6 ราย
ความสำเร็จของโครงการนี้จะต้องอาศัยทั้งความสัมพันธ์ที่เป็นมืออาชีพระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงความพร้อมที่จะประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่ามีบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่รายในโลกที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและกำลังทางการเงินเพียงพอในการดำเนินการรีสอร์ทแบบบูรณาการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
หากร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาและบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไทยอาจก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในศูนย์กลางความบันเทิงและการท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาค สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตลอดจนดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม IAG บอกด้วยว่า ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับการวางกรอบกฎหมายที่สมดุล ที่สามารถทั้งคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศและดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
IAG / ฐานเศรษฐกิจ /