SHORT CUT
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกออนไลนืเต็มไปด้วยการพนัน แถมมีเหยื่อล่อที่ชื่อว่า เครดิตฟรี ส่งผลให้เยาวชนไทยติดการพนัน ขณะที่ประเทศไทยเองยังไม่มีกฎหมายรับมือที่เพียงพอ
ท่ามกลางการขยายตัวของโลกดิจิทัล งานวิจัยล่าสุดได้เปิดเผยภาพปัญหาการพนันออนไลน์ในกลุ่มเยาวชนไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยชี้ชัดว่า "เครดิตฟรี" เป็นกลไกสำคัญ
ที่หลอกล่อให้เยาวชนก้าวเข้าสู่การเสี่ยง และปัญหาดังกล่าวสะท้อนความล้าสมัยของกฎหมายการพนันที่บังคับใช้มานานเกือบ 90 ปี
ผลการศึกษาโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา และคณะ ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยสำนักวิชาการ วุฒิสภา จากกลุ่มตัวอย่างเยาวชนกว่า 6,900 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 17-20 ปี ได้พบสถิติที่น่าตกใจ
โดยกลุ่มเพศชายมีแนวโน้มที่จะเล่นพนันออนไลน์มากกว่าเพศหญิงอย่างชัดเจน และเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเคยทดลองใช้สารเสพติดมาแล้ว
งานวิจัยชี้ว่า แรงจูงใจเริ่มต้นของเยาวชนในการเข้าสู่การพนันออนไลน์มักไม่ได้ซับซ้อน ส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการ "ได้เงินง่าย อยากลอง หรือเพื่อความสนุก"
แต่การได้รับเงินจากการเดิมพันในครั้งแรกกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า "รวยได้ง่าย" และนำไปสู่พฤติกรรมการเสพติดในที่สุดโดยที่เยาวชนหลายคนไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ปัจจัยแวดล้อมมีผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมการพนันออนไลน์ของเยาวชน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว
เยาวชนที่มาจากครอบครัวที่บิดามารดาแยกทางกัน หรือมีการสูญเสียบุพการี มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันและสารเสพติด
ในส่วนของสถานศึกษา นักเรียนกลุ่มอาชีวศึกษามีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่านักเรียนสายสามัญ โดยมีอิทธิพลจากเพื่อนรุ่นพี่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ
สื่อออนไลน์และโฆษณาชวนเชื่อก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกลยุทธ์ "เครดิตฟรี" ที่ถูกใช้หลอกล่อให้เยาวชนเชื่อว่าสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องลงทุนเงินของตนเอง
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงการเปิดประตูไปสู่การสูญเสียเงินจำนวนมากในระยะยาว
ด้านมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ให้ความเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวตอกย้ำข้อจำกัดของพระราชบัญญัติการพนันที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 หรือกว่า 90 ปี
ซึ่งไม่สามารถครอบคลุมและรับมือกับรูปแบบการพนันออนไลน์ที่ซับซ้อนและปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วในปัจจุบันได้
แม้รัฐบาลจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการยกร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร และการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการพนันเพื่อรวมถึงการพนันออนไลน์และเพิ่มบทลงโทษให้เหมาะสม
แต่คำถามสำคัญคือ การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถไล่ตามความรวดเร็วของการพัฒนาและปรับกลยุทธ์ของธุรกิจพนันออนไลน์ได้ทันท่วงทีหรือไม่
แนวทางการแก้ไขปัญหาการติดพนันในเยาวชนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชิงระบบจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาที่ควรสร้างระบบโรงเรียนปลอดการพนันอย่างจริงจัง
ครอบครัวที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและส่งเสริมการพูดคุยทำความเข้าใจกับบุตรหลานและตัวเยาวชนเองที่ต้องได้รับการพัฒนา "ภูมิคุ้มกันทางความคิด" ให้สามารถรู้เท่าทันกลลวงรูปแบบต่างๆ ของการพนันได้
การคัดกรองกลุ่มเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูงก็เป็นอีกจุดที่ต้องให้ความสำคัญ โดยไม่ควรปล่อยให้เด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง แต่ต้องมีระบบส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา
ขณะเดียวกัน ครูแนะแนวในสถานศึกษาควรได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่เยาวชนได้
เมื่อผลการวิจัยชี้ชัดว่า การพนันออนไลน์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่คือ "ภัยเงียบ" ที่กำลังกัดกร่อนอนาคตของเด็กและเยาวชนไทยอย่างรุนแรง
การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถอาศัยเพียงกลไกทางกฎหมายและการบังคับใช้เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป หากแต่ต้องอาศัย "ความร่วมมือเชิงระบบ" จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
หากสังคมยังคงเพิกเฉยต่อปัญหานี้ เราอาจต้องเผชิญกับอนาคตที่เต็มไปด้วยเยาวชนที่ต้องหลงผิดและล้มเหลวในชีวิต เพียงเพราะการคลิกง่ายๆ เพียงครั้งเดียวบนหน้าจอมือถือ
อ้างอิง