svasdssvasds

"พิชัย" เปิด 5 มาตรการรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ นำทัพเจรจา "ทรัมป์"

"พิชัย" เปิด 5 มาตรการรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ นำทัพเจรจา "ทรัมป์"

“พิชัย” เปิด 5 แผนเจรจาการค้าสหรัฐ คาดต้องใช้เวลาปรับสมดุลการค้ากว่า 10 ปี ชี้ไม่ใช่การลดภาษีแต่เป็นการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ

SHORT CUT

  • "พิชัย" เปิด 5 แผนเจรจาการค้าสหรัฐ

“พิชัย” เปิด 5 แผนเจรจาการค้าสหรัฐ คาดต้องใช้เวลาปรับสมดุลการค้ากว่า 10 ปี ชี้ไม่ใช่การลดภาษีแต่เป็นการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่ารัฐบาลได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือน และได้มีการเตรียมการไว้แล้วเบื้องต้น และเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของสหรัฐ คือ ต้องการแก้ไขปัญหาเสียดุลการค้า ดึงฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐ

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำต่อจากนี้ คือ พิจารณาว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาภาษี ที่ประเทศไทยจะต้องได้รับประโยชน์ และขอให้มั่นใจว่าวิธีการแก้ไขปัญหานี้จะเป็นผลดีของทั้งสองฝ่าย เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยกระดับการทำงาน และการผลิตของไทย ยอมรับแม้ว่าจะเป็นวิกฤติที่น่าหนักใจแต่ก็ถือว่ายังมีโอกาสในการยกระดับการค้าของไทยให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยไม่ได้เป็นการลดภาษีให้กับสหรัฐ แต่จะทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าไทยน้อยลงโดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปีในการปรับสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ

 

ปัจจุบันไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

โดยมีแนวทาง 5 แผนงานดังนี้

  1. นำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้นโดยเน้นสินค้าที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร และเครื่องในสุกร รวมทั้งสินค้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่มีต้นทุนต่ำในสหรัฐ
  2. ลดหรือยกเว้นภาษีให้กับสินค้าสหรัฐที่ไทยเก็บภาษีได้ไม่สูงนัก โดยมีการจัดเก็บรายได้ต่อปีไม่มากนักอยู่แล้ว กว่า 100 รายการ
  3. ยกเลิกมาตรการที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non tariff barrier) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าสหรัฐมากขึ้น
  4. การให้ความสำคัญกับการคัดถิ่นกำเนิดสินค้าที่มาใช้ไทยเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อป้องกันการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย และส่งออกไปยังสหรัฐ
  5. การสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพให้ไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น เช่น ภาคเกษตร ภาคพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐที่สนับสนุนในเรื่องนี้

รมว.คลัง ระบุว่ามีรายละเอียดที่จะดำเนินการอีกมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้คณะทำงาน และคณะรัฐมนตรีพิจารณา นำไปสู่การเจรจาในระดับผู้แทนการค้าของทั้งสองประเทศ

ส่วนตนเองจะดูแลภาพรวมตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะต้องไม่ยอม ใครจะต้องได้รับผลประโยชน์สูงสุด ดำเนินการภายใต้จุดแข็งที่ประเทศไทยมี

ทั้งนี้ยอมรับแม้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข แต่จะไม่ดำเนินการทันที เพราะต้องมีการวางแผน และแนวทางการทำงานให้รอบคอบ และเกิดผลสำเร็จมากที่สุด ส่วนจะเดินทางไปเมื่อไหร่ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ตอนนี้ทางสหรัฐ รับรู้แล้วว่ารัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการ เพื่อให้ ทั้งสองประเทศ ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยหากมีความชัดเจนในเรื่องนี้จะเดินทางไปโดยเร็วที่สุด

ตอนนี้เราเข้าใจว่าสหรัฐต้องการอะไร ดังนั้นจะต้อง ปรับ และหาแนวทางการแก้ไข มีหลากหลายแนวทาง ดังนั้นในช่วง10 ปีต่อจากนี้จะต้องหาแนวทางให้ได้ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดสมดุลทางการค้าระหว่างสองฝ่ายเช่นเดียวกับเอกชนที่จะไปลงทุนในสหรัฐจะต้องเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างดุลการค้าได้ อย่างมั่นคง

สำหรับแผนการรองรับเศรษฐกิจในประเทศรัฐบาลได้เตรียมมาตรการในการรองรับ เช่น การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจะมีการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับที่ประเทศจีนเคยทำตอนที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งตอนนั้นจีนมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะ โดยหากมีความจำเป็นไทยอาจจะขยายได้จากระดับ 70%  แต่ตอนนี้ตนเองได้แค่คิดเท่านั้นจะมีการขยายก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ

ส่วนจะมีการจับมือกันในประเทศกลุ่มอาเซียนไปเจรจากับสหรัฐหรือไม่นั้นนายพิชัย ระบุว่า แต่ละประเทศก็มีจุดแข็งหรือจุดอ่อนที่แตกต่างกัน หรืออาจจะเหมือนกัน จะไปเจรจาหรือพูดคุยพร้อมกันไม่ได้

เมื่อถามว่าประชาชนจะสามารถพึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่  นายพิชัย ย้ำว่าหากไม่พึ่งรัฐบาลแล้วจะไปพึ่งใคร ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น รัฐบาลจะทำงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related