svasdssvasds

ไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? เมื่อทรัมป์จัดระเบียบโลกใหม่ด้วยภาษี

ไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? เมื่อทรัมป์จัดระเบียบโลกใหม่ด้วยภาษี

ไทยอยู่ตรงไหนบนเรดาร์โลก? หลัง "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้าถ้วนหน้าทำลายระเบียบโลกเก่า รัฐบาลไทยถูกวิจารณ์ช้าไปไหม แต่คนในยืนยันว่า "คิดมาดีแล้ว"

SHORT CUT

  • ทรัมป์ขึ้นภาษีถ้วนหน้า: สหรัฐฯ ตั้งภาษีนำเข้า 10% กับทุกประเทศ และเพิ่มตามดุลการค้า ไทยโดนสูงถึง 37% กระทบหนักกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
  • ประเทศอื่นขยับ แต่ไทยยังนิ่ง: จีน-อียูโต้กลับแรง, เวียดนาม-อินเดียยอมอ่อนข้อ หวังได้ข้อแลกเปลี่ยน ส่วนไทยเลือกดูเชิง รอจังหวะเจรจา
  • ระเบียบโลกใหม่กำลังมา: โลกเสรีการค้าถูกแทนที่ด้วยแนวคิด "America First" ใครไม่ปรับตัวจะถูกทิ้ง ไทยต้องพร้อมรับมือเกมการค้าแบบใหม่

ไทยอยู่ตรงไหนบนเรดาร์โลก? หลัง "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้าถ้วนหน้าทำลายระเบียบโลกเก่า รัฐบาลไทยถูกวิจารณ์ช้าไปไหม แต่คนในยืนยันว่า "คิดมาดีแล้ว"

ภาษีนำเข้าถ้วนหน้าคืออะไร? ทำไมสิ่งที่ “ทรัมป์” ทำจึงสำคัญต่อเรา
 

ภาษีนำเข้าถ้วนหน้า หรือ "reciprocal tariffs" คือ มาตรการที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ตามระดับของดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศนั้น ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งบังคับใช้ภาษีพื้นฐาน 10% แล้วกับทุกประเทศตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. และจะบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้ารายประเทศ(คำนวณจากอัตราขาดดุล) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ)

สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ ได้กำหนดภาษีนำเข้าไว้ที่ 37% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย(24%) และสิงคโปร์(10%) ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าภายในตลาดสหรัฐฯ (ผู้ซื้อในสหรัฐต้องซื้อของแพงขึ้น ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิต)

รู้จัก Great Depression เคยเกิดแล้ว หนึ่งในปัจจัยกดดัน “ปฏิวัติสยาม”


ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะใกล้เคียงมาแล้ว คือ "Great Depression" หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงปี 1929-1939 (พ.ศ.2472-2482) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย(ขณะนั้นคือสยาม) ราคาข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสยามลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ของประเทศลดลง และเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

หนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯ ใช้ในช่วงนั้นคือการบังคับใช้กฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930 ซึ่งเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างมาก เพื่อปกป้องเกษตรกรและธุรกิจภายในประเทศ แต่กลับส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ทำให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก และทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งแย่ลง


สถานการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ คือ การปฏิวัติสยามในปี 1932 (พ.ศ.2475) เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 

ต่างชาติทำอะไรแล้วบ้าง ไทยทำอะไรแล้วบ้าง

กลุ่มที่ประกาศสู้ โต้กลับ

  • จีน: ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 34% เพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ และยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO)
  • สหภาพยุโรป (EU): กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ โดยมีการหารือเพื่อหาความเป็นเอกภาพในการตอบสนองต่อภาษีของสหรัฐฯ

 

กลุ่มที่ยอมหมอบ

  • เวียดนาม: เสนอที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด เพื่อหวังให้สหรัฐฯ พิจารณายกเว้นภาษีสินค้าจากเวียดนาม
  • อินเดีย: แสดงท่าทีไม่ตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ โดยหวังว่าการเจรจาทางการค้าจะดำเนินไปอย่างราบรื่น 

กลุ่มที่ยังไม่มีการปรับภาษี/เจรจาโดยตรง

  • ไทย: แม้จะยังไม่มีการตอบโต้โดยตรง แต่รัฐบาลไทยได้ประกาศแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น พลังงาน เครื่องบิน และสินค้าเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีที่สหรัฐฯ กำหนด
  • สิงคโปร์ : ประกาศไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางภาษี แต่จะพยายามเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออก พร้อมเตือนพลเมืองของตนเองให้พร้อมรับมือความไม่แน่นอน เท่าทันสงครามการค้าโลกยุคใหม่

 

ไทยไม่ขยับ ใช่ว่าไม่ทำงาน แต่ดูเชิงแล้ว “ได้ไม่คุ้มเสีย”

แม้รัฐบาลไทยจะมีความพยายามในการเจรจากับสหรัฐฯ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษี 37% แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินเดีย หรือกัมพูชา ที่ยินดีลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ลงเพื่อหวังสร้าง goodwill หรือข้อแลกเปลี่ยน ไทยกลับเลือก “นิ่ง” และ “ประเมินสถานการณ์”

  • ล่าสุด ทรัมป์ยังไม่ได้ลดภาษีให้แม้แต่ประเทศเดียวในกลุ่มที่ “ยอมหมอบ”  
  • เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราจะลดภาษีให้กับประเทศที่มีข้อแลกเปลี่ยนอันน่าอัศจรรย์ใจเท่านั้น”  
  • “We will only lower tariffs for countries that offer truly astonishing reciprocal terms.


คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การยอมโอนอ่อนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมาเสมอไป และนั่นทำให้หลายฝ่ายมองว่าการที่ไทย “ยังไม่ยื่นไพ่” ออกไป อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่เสียทีเดียว


ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า “ไทยยังมีไพ่หลายใบในมือ” แต่เลือกเก็บไว้ เพราะหากเปิดตอนนี้ก็อาจถูก “ตีราคาต่ำ” และเสียเปรียบในการเจรจา

 

กระแสธารโลกกำลังเปลี่ยน ไทยจะปรับตัวได้ไหม?

"ระเบียบโลกเสรีการค้า (Free Trade Order)" คือสิ่งที่สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อร่างสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาค้าขายบนหลักการ “ลดภาษี-แข่งขันเสรี-กระตุ้นนวัตกรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจที่ทำให้สหรัฐกลายเป็น “มหาอำนาจ” ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม


แต่ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ เสาหลักของระเบียบโลกนี้ถูกทำลายอย่างเป็นระบบ ทั้งการถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ เช่น CPTPP และ NAFTA เดิม การขึ้นภาษีเพื่อ "ลงโทษ" ประเทศคู่ค้า แทนที่จะใช้ WTO เป็นกลไกไกล่เกลี่ย หรือการเปลี่ยนนิยามคำว่า "win-win" ในการค้าระหว่างประเทศ เป็น “America First”

นั่นหมายความว่า...โลกที่เคยเชื่อว่า “ความร่วมมือจะทำให้ทุกคนรวยขึ้น” กำลังถูกแทนที่ด้วยโลกที่ “ใครไม่แข็งแรงก็ถูกเขี่ยทิ้ง” และสหรัฐในยุคทรัมป์ก็คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วไทยหล่ะ พร้อมหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือยัง?

related