svasdssvasds

เศรษฐกิจดี แต่อยู่ยาก? ‘สื่อท้องถิ่น’ จ.ภูเก็ต ในยุคลำบาก

เศรษฐกิจดี แต่อยู่ยาก? ‘สื่อท้องถิ่น’ จ.ภูเก็ต ในยุคลำบาก

เศรษฐกิจดี นักท่องเที่ยวมาก แต่อยู่ยาก สำรวจความลำบากของ 'สื่อท้องถิ่น' จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งกับ 'เพจร้องเรียน-อินฟลูเอนเซอร์'

เป็นที่รู้กันว่า รายได้หลักของสื่อไทยมาจาก ‘เงินโฆษณา’ ให้ช่วยโปรโมตสินค้า-บริการ หรือประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ

ดังนั้น เมื่อธุรกิจเติบโต บริษัทมีรายได้ดี สื่อเองก็ควรจะมีโอกาสในการหารายได้เพิ่มใช่หรือไม่

แต่สิ่งเหล่านั้น กลับไม่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของไทยซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เพราะแม้ จ.ภูเก็ต ที่ ‘ในเชิงพื้นที่’ จะมีขนาดเล็กที่สุดของไทย (543 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่า กทม. สามเท่า) มีพื้นที่การปกครองแค่ 3 อำเภอ แต่ ‘ในเชิงเศรษฐกิจ’ จ.ภูเก็ตกลับมีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว ที่ทำรายได้มากที่สุดกว่า 500,000 ล้านบาท แถมครัวเรือนคนในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ย สูงติด TOP3 ของประเทศ

ทว่า ‘สื่อท้องถิ่น’ ใน จ.ภูเก็ตกลับอยู่กับอย่างยากลำบาก บางสื่อที่อยู่มานานหลายสิบปีเลิกกิจการ นักข่าวท้องถิ่นหลายคนแยกย้ายไปทำอาชีพอื่น คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ไม่มีใครอยากมาทำงานข่าว

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

‘หาย-ตาย-เลิก’ ชะตากรรมสื่อท้องถิ่นภูเก็ต

ในรายงานผลการศึกษาเรื่อง ‘การปรับตัวของสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตในยุคหลอมรวมสื่อ’ ของ ผศ.อุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ที่เผยแพร่เมื่อปี 2563 (ลิงก์) ให้ภาพสื่อท้องถิ่นภูเก็ตขณะนั้นว่า มีหนังสือพิมพ์ 12 ชื่อฉบับ, นิตยสาร 4 ชื่อฉบับ, สถานีวิทยุกระจายเสียง 56 คลื่นความถี่, วิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่น (เคเบิลทีวี) 15 หน่วยงาน และมีสำนักข่าวออนไลน์อีก 7 สำนักข่าว

ผ่านไป 5 ปี เมื่อไปอัพเดทข้อมูลกับ ผศ.อุษณีย์อีกครั้ง ที่ให้ภาพไล่เรียงชะตากรรมสื่อท้องถิ่นภูเก็ตไปทีละประเภท จะได้ยินคำว่า “แทบไม่มี” “หายไป” “เลิกทำ” อยู่บ่อยครั้ง จากหลากหลายปัจจัย

1.วิทยุ

จากสมัยที่มีวิทยุชุมชน คลื่นทุก .25 จะมีสถานีเกือบทุกคลื่น เพราะใคร ๆ ก็สามารถตั้งได้ แต่หลังจาก กสทช. เข้ามาตรวจสอบประกอบกับการ disruption ทำให้ตอนนี้ เหลือเพียงสถานีหลักที่ราชการเป็นเจ้าของ 8 สถานี เช่น สวท. (สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย) หรือ ส.ทร.3 (เสียงจากทหารเรือ) และสถานีวิทยุแบบสาธารณะ ชุมชน และธุรกิจ รวมกันประมาณ 20 สถานีที่มีชื่อปรากฏอยู่ แต่ออกอากาศจริงน่าจะไม่ครบ

2.นิตยสาร

แทบจะหายไปหมดแล้ว สมัยก่อนจะมีนิตยสารที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นภูเก็ต 2-3 หัว แต่นั่นก็เป็นอดีตที่รุ่งเรืองเมื่อนานมาแล้ว อย่าง นิตยสาร Phuket Bulletin ก็เลิกไปหลายปีก่อน ถึงวันนี้ยังมีคนพูดอยู่ว่า เนื้อหาในเล่มเหมือนเป็นบันทึกของ จ.ภูเก็ต

3.หนังสือพิมพ์

จากที่เคยสำรวจร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พบว่า ในภาคใต้ จังหวัดที่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากที่สุด รองจาก จ.สงขลา ก็คือ จ.ภูเก็ต แล้วก็ไม่ได้มีแค่หนังสือพิมพ์ภาษาไทย แต่ยังมีภาษาต่างประเทศ เช่น จีนกับรัสเซีย อย่าง ‘หนังสือพิมพ์เสียงใต้’ สมัยก่อนก็ทำทั้งภาษาไทยและภาษาจีน มีข่าวเหมือนเป็น ‘หนังสือพิมพ์ไทยรัฐของภาคใต้’ เพราะไม่ได้ทำข่าวแค่ใน จ.ภูเก็ตแต่ทำข่าวทั้งภาคใต้ แต่ปัจจุบันก็เลิกไปแล้ว หลังประสบปัญหาทางธุรกิจ แม้จะพยายามปรับตัวลดความถี่ในการวางแผงจากรายวัน เป็นรายสามวัน และรายสัปดาห์

ทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ต ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 2-3 ฉบับ ที่จะเน้นเนื้อหาจากหน่วยงานราชการเป็นหลัก

4.เคเบิลทีวี

ความที่ จ.ภูเก็ตมีสภาพเป็นเกาะ ทำให้บางจุดรับสัญญาณจากส่วนกลางไม่ได้ บางจุดก็ถูกภูเขาบัง ต้องรับสัญญาณจากเคเบิลทีวี ซึ่งลูกค้าหลักจะมี 2 กลุ่ม คือนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน แต่ปัจจุบันน่าจะเลิกไปหลายเจ้าจากการที่มีทีวีดาวเทียมและทีวีออนไลน์เข้ามา

5.สำนักข่าวออนไลน์

พอสื่อดั้งเดิมทยอยเลิกไป ที่มาแทนที่ก็คือข่าวสารทางออนไลน์ แต่ที่มีมากขึ้น ไม่ใช่ ‘สำนักข่าว’ กลับเป็น ‘เพจร้องเรียน’ ต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ก หลายเพจมียอดคนติดตามเป็นแสน เพราะคนทำเพจจะเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านได้ดีกว่า เพราะมักใช้เป็นพื้นที่สะท้อนปัญหา แล้วราชการก็จะลงมาแก้ไข

ทั้งหมดคือภาพรวมสื่อท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ตจาก ผศ.อุษณีย์ ที่ต้องบันทึกไว้ว่าเป็นข้อมูลต้นปี 2568

ทำไมสำนักข่าวถึงอยู่ยาก

“สถานการณ์สื่อท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ตค่อนข้างลำบาก เอกชนไม่ค่อยมาลงโฆษณา เนื่องจากสามารถทำสื่อกันเองได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เพราะเอกชนในภาคการท่องเที่ยวมักจะเป็นเชน (chain) ใหญ่ที่มีความสามารถในการทำสื่อ หากจะมีลงโฆษณาบ้างก็มักจะเป็นเงินเปิดตัวสินค้าอื่น ซึ่งมีอยู่ประปราย นาน ๆ ครั้ง”

คือข้อมูลจาก สาลินี ปราบ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวภูเก็ต ที่ตอบคำถามข้างต้นว่า ทั้งที่เศรษฐกิจในภูเก็ตค่อนข้างเจริญ แต่ทำไมสื่อท้องถิ่นกลับแทบไม่ได้อานิสงส์จากจุดนั้นเลย

สื่อท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ตหลายคนจึงใช้วิธีหารายได้อื่น หากไม่มีธุรกิจอื่นเสริม ก็มักจะเป็นสตริงเกอร์ (stringer) ให้กับสื่อส่วนกลาง ซึ่งช่วงหลังก็เผชิญกับความท้าทายเนื่องจากสื่อส่วนกลางหลายแห่งลดค่าตอบแทนสตริงเกอร์ลง ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแนวทางการรับข่าวจากนักข่าวต่างจังหวัด หันไปเน้นข่าวอาชญากรรมมากขึ้น ซึ่งในพื้นที่ จ.ภูเก็ตไม่ค่อยมีข่าวอาชญากรรมใหญ่ ๆ มักจะเป็นเหตุลักวิ่งชิงปล้นธรรมดา ส่วนข่าวด้านสังคมหรือวัฒนธรรมถูกลดความสำคัญลง

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สาลินีให้ข้อมูลคล้ายกับ ผศ.อุษณีย์ คือการที่ ‘เพจร้องเรียน’ ขึ้นมามีบทบาทสำคัญแทน ‘สำนักข่าว’ เมื่อเกิดเหตุอะไรใน จ.ภูเก็ต หลายครั้งที่สื่อส่วนกลางเลือกติดต่อไปยังเพจเหล่านั้นโดยตรง ยิ่งทำให้นักข่าวในพื้นที่มีงานน้อยลง

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า มีเพจเฟซบุ๊กซึ่งนำเสนอข่าวสารใน จ.ภูเก็ตที่ยอดผู้ติดตามหลักแสนคนอยู่หลายเพจ เช่น เพจเหยี่ยวข่าวภูเก็ต (ยอดติดตาม 7.7 แสน), เพจโหดจัง จังหวัดภูเก็ต (ยอดติดตาม 5.4 แสน), เพจ Phuket Times (ยอดติดตาม 4.5 แสนคน) ฯลฯ

แม้ปัจจุบัน สมาคมผู้สื่อข่าวภูเก็ตจะมีสมาชิกประมาณ 90 คน แต่เมื่อมีงานสำคัญ ๆ เราอาจจะเห็นคนไปทำข่าวในหลักร้อยคน บางส่วนยังนิยามตัวเองว่าเป็นนักข่าว แต่หลายคนก็นิยามว่าเป็น influencer หรือ content creator

“เด็กรุ่นหลังไม่ค่อยอยากจะเป็นนักข่าว อยากจะเป็น influencer มากกว่า โดยเฉพาะด้านไลฟ์สไตล์จากที่ จ.ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะรายได้แตกต่างกัน ทำให้สื่อภูเก็ตหลายแห่ง ถ้าหมดนักข่าวรุ่นนี้แล้ว ก็อาจจะต้องปิดตัวลงไป” นายกสมาคมผู้สื่อข่าวภูเก็ตกล่าว

ผศ.อุษณีย์ที่เป็นประธานหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ให้ข้อมูลเสริมว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กมาเรียนรุ่นหนึ่งประมาณ 80 คน แม้เรียน ๆ ไปจะหายไปราว 20-30% เพราะเด็กที่นี่ต้องทำงานไปด้วย ทำให้เหลือรุ่นละ 50-60 คน ส่วนใหญ่ที่จบออกไป จะไปทำงานเป็น content creator ไปทำงานให้กับธุรกิจโรงแรมหรือร้านอาหารมากกว่า คือเขาไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นสื่อ แต่ไปถ่ายรูปอาหาร โรงแรม ไปทำงานลูกค้า

“ถามว่าแต่ละรุ่นอยากมีคนเป็นนักข่าวไหม ตอบได้เลยว่าน้อยมาก (ลากเสียง) เพราะเขาแทบไม่ได้อ่านข่าว จะเห็นข่าวบ้างก็จากสิ่งที่ฟีดขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นความใฝ่ฝันของพวกเขาคือการเป็น influencer ไม่ใช่นักข่าว เพราะภาพของนักข่าวในสายตาเด็ก ๆ คือชีวิตมันลำบาก ยากเย็น เงินเดือนก็น้อย ต้องกินอุดมการณ์” ผศ.อุษณีย์สรุป

สื่อท้องถิ่นเองก็ลำบาก ผลที่ตามมาคืออะไร

นอกจากการให้ข้อมูลข่าวสารแล้ว อีกภารกิจหนึ่งที่คาดคนหวังจากสื่อคือการทำหน้าที่เป็น ‘หมาเฝ้าบ้าน(watchdog)’ คอยตรวจสอบสิ่งผิดปกติ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณและอำนาจของภาครัฐ

อย่างในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่แม้ภาพด้านหนึ่งอาจดูสดใสสว่างไสวราวกับแสงไฟนีออนบนถนน walking street หรือแสงแดดที่ส่องประกายกระทบเกลียวคลื่นจากธุรกิจท่องเที่ยวที่โตวันโตคืน แต่ในอีกด้าน ยังมีข่าวสารในมุมมืดที่ต้องการคนช่วยตรวจสอบ-ตีแผ่-นำเสนอให้สังคมรับรู้ และร่วมกันแก้ไข

อย่างไรก็ตาม เมื่อชีพจรของสำนักข่าวอยู่ในภาวะรวยริน จึงทำหน้าที่นี้ได้ไม่เต็มที่นัก ประกอบกับบริบทในพื้นที่ซึ่งเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ทุกคนรู้จักเห็นหน้าค่าตากันหมด ทำให้การทำงานเชิงตรวจสอบเป็นไปได้ยาก

“ข่าวเชิงตรวจสอบมักจะมาจาก กทม.เป็นหลัก แล้วสื่อท้องถิ่นก็ไปเข้าหาแหล่งข่าวเพื่อขอคำชี้แจง ถ้าเราเล่นหนักมาก ๆ บางทีเขาใช้วิธีแบน ไม่คุยด้วย ก็จะทำให้การทำงานยากไปอีก” สาลินี ปราบ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวภูเก็ตยอมรับ

ผศ.อุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กล่าวเสริมว่า ถามว่าเราต้องการสื่อที่มาทำงานตรวจสอบไหม ก็ต้องการนะ แต่อาจจะต้องพิจารณาในแง่ความปลอดภัย การดูแลเขา สมมุติเขาทำข่าวตรวจสอบออกไป แล้วใครจะดูแล คือมันยากมากในพื้นที่ซึ่งนักข่าวกับแหล่งข่าวอยู่ใกล้ชิดกันมาก

“จะไปหวังให้สำนักข่าวท้องถิ่นยกระดับขึ้นมา ถ้าดูจากบริบทแวดล้อมต่าง ๆ มันก็ค่อนข้างลำบาก จะให้เขาไปทำข่าวเชิงตรวจสอบ ถามว่าเขาทำอะไรจะได้อะไร ได้รับการยกย่องเหรอ แล้วยังไงต่อ

“แต่ส่วนตัวก็ยังมีความหวังนะ คือสื่อในภูเก็ตอาจจะไม่ต้องทำข่าวตรวจสอบเอง แต่ใช้คอนเน็กชั่นให้สื่อส่วนกลางเข้ามาทำ”

ก่อนจะทำสกู๊ปชิ้นนี้ขึ้น เราได้สอบถามข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ทั้งจากนักการเมือง ฝ่ายปกครอง และภาคเอกชนในพื้นที่ ได้รับข้อมูลคล้ายกันว่า จากปัญหาเรื่องความอยู่รอด ทำให้มีคนทำงานสื่อสารใน จ.ภูเก็ตบางส่วนหันไปรับงานประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ อาจเป็นรายชิ้นหรือรายเดือนตามแต่ตกลงกัน, บางส่วนก็เข้าไปใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจที่แบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ เพราะ จ.ภูเก็ตไม่ได้ถูกครอบครองโดย ‘บ้านใหญ่’ เพียงตระกูลเดียว ทำให้การทำงานตรวจสอบภาครัฐ-ผู้มีอำนาจ เป็นไปได้ยาก

อีกประเด็นที่ได้ยินบ่อย คือวิธีคิดของคนภูเก็ตที่ไม่อยากให้นำเสนอข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับในพื้นที่ เพราะอาจกระทบกับการพัฒนาจังหวัด (“อย่าขัดขวางความเจริญ”)

สารพัดปัจจัยข้างต้น ทำให้สถานการณ์สื่อท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ตเผชิญกับโจทย์ท้าทาย ทั้งในด้าน ‘ความอยู่รอด-การทำหน้าที่’

ปี 2568 ไม่เพียงสถานการณ์ ‘สื่อส่วนกลาง’ ที่กำลังเผชิญวิกฤตเรื่องรายได้ ความอยู่รอด และการทำหน้าที่ จะน่าสนใจ ‘สื่อท้องถิ่น’ ในจังหวัดต่าง ๆ ก็น่าสำรวจและจับตาไม่แพ้กัน เพราะยังมีบริบทของแต่พื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

ที่มาข้อมูลอ้างอิง

  1. รายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต เป็นข้อมูลปี 2567 จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยว
  2. รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของ จ.ภูเก็ต เป็นข้อมูลปี 2566 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  3. ข้อมูลเรื่องสื่อท้องถิ่น จ.ภูเก็น มาจากงานวิจัยเรื่อง 'การปรับตัวของสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตในยุคหลอมรวมสื่อ' โดยอุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ ที่เผยแพร่ในปี 2563
  4. ข้อมูลเรื่องจำนวนหนังสือพิมพ์ในภาคใต้ มาจากงานวิจัยเรื่อง 'สถานภาพและบทบาทการสื่อสารเพื่อความเป็นพลเมืองของประชาชนในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้' ปี 2552 ผู้วิจัย อุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ และภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา ที่พบว่าในปี 2552 ภาคใต้มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั้งหมด 49 ชื่อฉบับ อันดับหนึ่ง จ.สงขลา มี 11 ชื่อฉบับ รองลงมา จ.ภูเก็ต 9 ชื่อฉบับ และ จ.ตรัง 8 ชื่อฉบับ)
related