ทำความรู้จัก แพลตฟอร์ม OTT คืออะไร ? ทำไมต้องให้ความสำคัญ . และถูกพูดถึงในสังคม นี่คือแพลตฟอร์มเปลี่ยนพฤติกรรมคน - เปลี่ยนทิศทางอุตสาหกรรมสื่อ
จากประเด็นที่ผุดขึ้นมาในสังคมและเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ณ เวลานี้ เมื่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษา คดีทรูไอดี ฟ้อง "พิรงรอง รามสูต" กรรมการ กสทช. กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มทรูไอดี
โดย คำว่า ระบบ OTT ก็กลับมาได้รับความสนใจ ดังนั้น เราลองมาทำความรู้จักกับคำๆนี้กันอีกครั้ง
OTT (Over-the-Top) คือ แพลตฟอร์มที่ให้บริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น
แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง → Netflix, YouTube, Disney+ Hotstar, TrueID
แพลตฟอร์มเพลงและพอดแคสต์ → Spotify, Apple Music
แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่ง → Facebook Live, TikTok Live
• พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป : ผู้บริโภคหันมาเสพคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อบันเทิงต่างๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด และเลือกรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ ทำให้การดูทีวีแบบดั้งเดิมค่อยๆ ลดความนิยมลง คนไทยจำนวน 26 ล้านคนเลือกดูผ่านแพลตฟอร์ม OTT และใช้เวลาไปกับแพลตฟอร์มเหล่านี้ถึง 1.4 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน โดยในอดีตมี รายงาน Digital Stat 2021 จาก We Are Social พบว่า คนไทยร้อยละ 99 ชอบดูวิดีโอออนไลน์ และร้อยละ 69 อยู่บนโลกออนไลน์เรียบร้อยแล้ว โดยมีพฤติกรรมการใช้งานเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ เช่น การฟังเพลง การใช้งานโซเซียลมีเดีย เล่นเกม และอัดคลิปวิดี
• ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแอนิเมชัน: พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์หลายรายได้มีการถอดช่วงที่เป็นการฉายแอนิเมชัน เนื่องจากมีผู้ซื้อโฆษณาน้อยลง เพราะกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็กหันไปรับชมคอนเทนต์เหล่านี้บนระบบ OTT แทน
• ผลกระทบต่อธุรกิจ Home entertainment: ผู้บริโภคที่เคยใช้บริการ Home entertainment ได้เปลี่ยนไปใช้บริการ OTT แทน เนื่องจากมีความสะดวกและยืดหยุ่นในการรับชมมากกว่า อีกทั้งยังสามารถรับชมได้ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต
• ความหลากหลายของเนื้อหา: การจัดทำเนื้อหาสำหรับ OTT มีความเสรีมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถมีความคิดสร้างสรรค์และนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ที่มีคุณภาพก็สามารถมีสิทธิ์ต่อรองกับผู้ให้บริการช่องทางการเผยแพร่ได้มากขึ้น
• การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น: ผู้ให้บริการ OTT มีความได้เปรียบมากกว่าผู้ให้บริการในช่องทางเดิม เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย และไม่ถูกกำกับดูแลที่เข้มงวดเหมือนผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน
• โอกาสใหม่สำหรับนักการตลาด: แพลตฟอร์ม OTT เป็นแหล่งโอกาสใหม่สำหรับนักการตลาดและธุรกิจ เนื่องจากผู้บริโภคใช้เวลาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น และเปิดรับโฆษณามากขึ้นด้วย คนไทย 71% ที่ดู OTT รับชมเนื้อหาที่รองรับโฆษณา และ 91% เต็มใจที่จะดูโฆษณา 2 รายการขึ้นไป สำหรับการชมรายการฟรี 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังจดจำแบรนด์จากแพลตฟอร์ม OTT ได้มากขึ้นด้วย
• กลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ: ผู้ใช้แพลตฟอร์ม OTT ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Millennials และ Gen Z ซึ่งมีรายได้ปานกลางถึงสูง และมีแผนที่จะซื้อสินค้าที่สามารถส่งเสริมการรับชม OTT ได้สะดวกขึ้น
• การปรับตัวของสถานีโทรทัศน์: สถานีโทรทัศน์จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยอาจต้องทำแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อรองรับคอนเทนต์ที่ให้บริการ และอาจต้องนำเนื้อหาไปเผยแพร่ในหลายช่องทาง
ในกรณีของ ทรูไอดี ซึ่งเป็น OTT ที่ถ่ายทอดช่องทีวีดิจิทัล การแทรกโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดช่องฟรีทีวี เป็นสิ่งที่ กสทช. มองว่าอาจขัดต่อกฎ "Must Carry"
โดย หลักเกณฑ์ "Must Carry" นั้น กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ต้องเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์โดยไม่มีการแทรกเนื้อหาอื่น เช่น โฆษณา หรือเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายการต้นฉบับ เพื่อให้ผู้ชมได้รับชมเนื้อหาตามที่ผู้ผลิตรายการตั้งใจนำเสนอ
คดีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นกรณีที่ กสทช. ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับถูกฟ้องร้องโดยผู้ประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในอนาคต
คดีนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญว่า OTT ควรถูกควบคุมแบบเดียวกับทีวีดั้งเดิมหรือไม่? ซึ่งจะกำหนดอนาคตของการบริโภคสื่อในไทยในอนาคตอีกด้วย