SHORT CUT
กลโกงออนไลน์ ที่ระบาดหนักในช่วงวันหยุด มีหลากหลายรูปแบบทั้ง ร้านค้าออนไลน์ปลอมล่อหลอกด้วยส่วนลด ของขวัญวันหยุดจากหน่วยงานปลอม แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงทางโทรศัพท์
สงกรานต์ 2568 เวียนมาถึง คราบน้ำดินสอพองและรอยยิ้มเปื้อนสุขก็เป็นภาพคุ้นตา ทว่าในโลกดิจิทัลที่ไร้พรมแดน เหล่ามิจฉาชีพก็เคยได้หยุดพัก กลับฉวยโอกาสในช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ วางกลลวงออนไลน์หวังเชิดชิงทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัวของผู้คนอย่างแนบเนียน เมื่อ "ของถูก" กลายเป็น "เหยื่อล่อ" ในโลกออนไลน์
เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างการหลอกลวงออนไลน์ที่มักจะเกิดขึ้นถี่มากในช่วงวันหยุดเทศกาล ดังนี้ ช่วงวันหยุดสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ผู้คนมีกิจกรรมมากมายทั้งงานเลี้ยง พบปะ ท่องเที่ยว เดินทาง และเป็นธรรมดาที่ผู้คนจะระมัดระวังกับมาตรการความปลอดภัยทางกายภาพมากกว่าการป้องกันทางออนไลน์ มิจฉาชีพจึงใช้ประโยชน์จากจุดนี้ เล่นกลกับความไว้วางใจและหลอกล่อให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและการเงิน มารู้จักกลโกงตัวตึงในประเทศไทยกันก่อน
• ร้านค้าออนไลน์ปลอมล่อหลอกด้วยส่วนลด
นักช้อปออนไลน์ทั้งหลายพึงระวัง เมื่อเห็นร้านค้าออนไลน์หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงร้านคุ้นเคย แต่กลับมีโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ชวนให้ตาลุกวาว เหล่ามิจฉาชีพมักสร้างเว็บไซต์ปลอม เลียนแบบร้านค้าจริง หวังเพียงให้เหยื่อหลงเชื่อ คลิกเข้าไปซื้อสินค้า แล้วเงินในกระเป๋าก็อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย ร้านค้าเหล่านี้มักผุดขึ้นเพียงชั่วครู่ยาม ก่อนจะถูกทางการตามเก็บกวาดเมื่อภัยมาถึง
•ของขวัญวันหยุดจากหน่วยงานปลอม
อย่าเพิ่งปลาบปลื้มกับข้อความแจ้งเตือนถึง "ของขวัญ" หรือ "สิทธิพิเศษ" ที่ส่งมาจากหน่วยงานภาครัฐที่คุณไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลจากการจับฉลาก ส่วนลดพิเศษ หรือที่พักฟรี โจรมักแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ ส่งลิงก์ปลอมเพื่อล่อลวงให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวอันเป็นกุญแจสำคัญสู่บัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่นๆ เพียงแค่ "ชำระค่าธรรมเนียม" เล็กน้อย เหยื่อก็จะสูญเสียมากกว่าที่คิด
•แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงทางโทรศัพท์
ในช่วงเวลาที่คุณกำลังเพลิดเพลินกับการเดินทางและห่างไกลจากบ้าน มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็มิได้หลับใหล พวกเขาจะโทรศัพท์มาแจ้งข่าวร้ายต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นพัสดุล่าช้า โทรศัพท์ถูกตัด หรือแม้กระทั่งกล่าวหาว่าคุณพัวพันกับธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัย จากนั้นก็จะโอนสายไปยัง "ตำรวจปลอม" ที่พร้อมจะข่มขู่ให้คุณโอนเงินเพื่อ "แสดงความบริสุทธิ์"
•หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์
หากมีใครอ้างว่าเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาล เร่งเร้าให้คุณติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมคอมพิวเตอร์ระยะไกล เพื่อ "อำนวยความสะดวกในการสืบสวนคดีอาญา" จงพึงระวังไว้ เพราะนั่นอาจเป็นกลลวงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลตัวจริงจะไม่ร้องขอให้ประชาชนทำเช่นนั้น การติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จักยังอาจนำมาซึ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์อื่นๆ อีกด้วย
• ข่มขู่ให้จ่ายค่าไถ่เพื่อปลดล็อกข้อมูล
อีเมลหรือแอปฯ ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มาพร้อมกับไฟล์แนบหรือลิงก์อันตราย อาจนำพา "แรนซัมแวร์" มาสู่เครื่องของคุณ เมื่อดาวน์โหลดแล้ว ข้อมูลสำคัญของคุณจะถูกล็อก และหนทางเดียวที่จะเข้าถึงได้คือการจ่ายเงินค่าไถ่ให้กับมิจฉาชีพ ทว่าไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าคุณจะได้รับข้อมูลคืน และอาจตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีซ้ำเติมอีกด้วย
เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ ให้มุมมองว่า “การหลอกลวงออนไลน์ในช่วงวันหยุดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีความซับซ้อนมากขึ้นทุกๆ ปี โดยมิจฉาชีพจะใช้ประโยชน์จากประเพณีและเทคโนโลยีในภูมิภาคเพื่อกำหนดเป้าหมายเหยื่อที่ต้องการโจมตี ประชาชนมีความเสี่ยงเพิ่มมากเป็นพิเศษในช่วงวันหยุด เพราะมักยุ่งอยู่กับการมองหาส่วนลด และมักจะไว้ใจโปรโมชั่นตามเทศกาลมากขึ้น อาชญากรไซเบอร์ไม่ได้ขโมยเพียงแค่เงินเท่านั้น แต่ยังสร้างฐานข้อมูลส่วนบุคคลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการฉ้อโกงและการโมตีในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามทางออนไลน์ในช่วงเทศกาลนี้ด้วย”
1. ไม่คลิกลิงก์ใดๆ ที่ได้รับจากบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือลิงก์ที่น่าสงสัยเพื่อนในโซเชียลมีเดียส่งมา ลิงก์เหล่านี้อาจเป็นอันตราย ออกแบบมาเพื่อดาวน์โหลดมัลแวร์ลงในอุปกรณ์ของคุณ หรือนำไปสู่เว็บเพจฟิชชิงที่ต้องการรวบรวมข้อมูลประจำตัวของผู้ใช้
2. ไม่ดาวน์โหลด เปิด หรือจัดเก็บไฟล์ที่ไม่คุ้นเคยบนอุปกรณ์ของคุณ ลิงก์เหล่านี้อาจเป็นอันตรายได้
3. ไม่ใช้เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะในการชำระเงินออนไลน์ เนื่องจากฮอตสปอตนั้นอาจถูกแฮ็กได้ง่ายเพื่อดักข้อมูลผู้ใช้และขโมยข้อมูลที่เป็นความลับได้
4. ไม่แชร์ข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่จะแจ้งกับหน่วยงานที่ได้รับการตรวจสอบและเชื่อถือได้
5. ไม่แชร์รหัสผ่านครั้งเดียวหรือรหัส PIN กับผู้อื่น แม้แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารก็ตาม อาชญากรไซเบอร์สามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อขโมยเงินของคุณได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง