เสียงเปิดเครื่อง Window 95 ได้รับการยกย่องให้อยู่ในหอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการ National Recording Registry
เมื่อครั้งที่โลกดิจิทัลเพิ่งเบ่งบาน ในช่วงยุค 1990s เสียงหนึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นยุคสมัย มันคือเสียงเปิดเครื่องของ Windows 95 ท่วงทำนองสั้นๆ เพียง 6 วินาที กลับฝังแน่นอยู่ในรอยความทรงจำของใครหลายคน
เสียงเปิดเครื่อง Window 95 ไม่ได้เป็นเพียงสัญญาณว่าคอมพิวเตอร์พร้อมทำงาน แต่เป็นเสมือนประตูที่เปิดไปสู่โลกไซเบอร์ในเวลานั้น และในสัปดาห์นี้ เสียงอันเป็นที่รักนี้ได้รับการยกย่องให้อยู่ในหอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการ National Recording Registry
โครงการ National Recording Registry ก่อตั้งขึ้นโดยหอสมุดรัฐสภา ภายใต้กฎหมาย National Recording Preservation Act ปี 2000 ด้วยเจตนารมณ์ที่จะเก็บรักษาผลงานเสียงอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยในแต่ละปี บรรณารักษ์แห่งรัฐสภาจะร่วมกับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คัดเลือกผลงานเสียง 25 รายการที่มีอายุไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด การได้รับเลือกของเสียงเปิดเครื่อง Windows 95 จึงเป็นการตอกย้ำถึงอิทธิพลและความผูกพันที่ผู้คนยุคหนึ่งมีต่อเทคโนโลยี ในยุคที่ PC เบงบานเป็นอย่างมาก
เสน่ห์ของเสียงเปิดเครื่อง Windows 95 มิได้อยู่ที่ตัวท่วงทำนองเพียงอย่างเดียว หากแต่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการเปิดตัวของระบบปฏิบัติการ Windows 95 ในเดือนสิงหาคม ปี 1995 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การนำเสนอ Graphical User Interface (GUI) ที่ใช้งานง่าย ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้สัมผัสประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เสียงเปิดเครื่องนี้จึงเป็นดั่งสัญญาณของการเริ่มต้นยุคใหม่แห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเสียงอันเป็นเอกลักษณ์นี้คือ Brian Eno ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล เดิมที Microsoft ได้มอบหมายให้ Eno สร้างเสียงเปิดเครื่องที่มีความยาวประมาณ 3 วินาที ทว่า Eno กลับส่งตัวอย่างเสียงมาให้เลือกมากมาย และท้ายที่สุด ทีมออกแบบของ Microsoft ก็ตัดสินใจเลือกเสียงที่เราคุ้นเคย ซึ่งมีความยาว 6 วินาที สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ Eno ได้เปิดเผยในการสัมภาษณ์กับ BBC ในปี 2009 ว่า เขาได้แต่งเสียง Jingle เสียงนี้บนเครื่อง Mac ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งโดยตรงของ Microsoft
ที่มา : tomshardware
ข่าวที่เกี่ยวข้อง