SHORT CUT
ด้านแรกอาจดีแค่ระยะสั้น หากจะยั่งยืนต้องดัน “จ้างงาน” เพิ่มรายได้
พาคุยกับ “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ถึงมุมมองเรื่องการที่รัฐ “ซื้อหนี้” โมเดลนี้อาจเป็นเหรียญ 2 ด้าน ด้านแรกอาจดีแค่ระยะสั้น หากจะยั่งยืนต้องดัน “จ้างงาน” เพิ่มรายได้
โมเดลการซื้อหนี้เสียของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีแนวคิดต้องการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ดี และไม่ดี โดยเรื่องนี้มีความเห็นมากมายจากนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่น “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า แนวคิดการซื้อหนี้เสียออกจากระบบของกระทรวงการคลัง เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน
ด้านแรก คืออาจเข้ามาช่วยให้สินเชื่อในระบบขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันสินสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่มีการขยายตัวทั้งรายใหญ่ รายย่อย รถยนต์ ซึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินอาจมีความกังวลเรื่องหนี้เสียและหนี้ที่ผิดนัดชำระ 30-90 วัน ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากจะมีการซื้อหนี้เพื่อลดภาระให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องมากขึ้นเพื่อไปปล่อยสินเชื่อ การซื้อหนี้ก็เป็นแนวคิดที่ดีในการสนับสนุนสินเชื่อให้เติบโต
ขณะที่อีกด้านยังต้องระวังผลที่ตามมาจากการซื้อหนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากหนี้เสียไม่ได้พุ่งขึ้นสูง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับ 3% ของสินเชื่อรวม ดังนั้นปัญหาที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อไม่ได้มาจากหนี้เสียอยู่ในระดับสูงเท่านั้นแต่ยังมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้
“ส่วนตัวมองเป็น 2 ด้าน ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องนี้มีจุดประสงค์ที่ดี คือการต้องเห็นสินเชื่อที่เติบโตมากขึ้น เนื่องจากปี 2567 ที่ผ่านมา สินเชื่อติดลบ และปี2568 สินเชื่อมีโอกาสติดลบต่อ ธุรกิจ SME รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เติบโตช้า ฉะนั้นหากจะเสริมสภาพคล่องไปสู่สถาบันทางการเงินให้มีเม็ดเงินในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ก็นับได้ว่าเป็นความคิดที่ดี”
อย่างไรก็ตามอยากให้มองว่าปัญหาขณะนี้ไม่เหมือนกับปี2540 ที่หนี้เสียสูงมาก แบงก์เองก็ไม่ได้ระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งขณะนี้ NPL มีเพียง 3% และแบงก์เองก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่ความเสี่ยงด้านเครดิต คนรายได้เติบโตไม่ทันรายจ่าย ซึ่งการแก้ไขต้องแก้ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนมีรายได้ที่มากขึ้น มีการจ้างงานได้ดีขึ้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยาวได้
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่1 ของปี 2568 เศรษฐกิจเติบโตได้ดี จากมาตรการลดหย่อนภาษี การกระตุ้นการบริโภค การส่งออกก็เร่งแรง การผลิตก็ขยับมากขึ้น การท่องเที่ยวก็เป็นช่วงไฮซีซั่น ดังนั้นไตรมาสที่1จึงนับว่าเป็นไตรมาสที่ดี และคาดว่าจะเติบโตได้ 3.1% แต่หลังจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตช้าลงไปเรื่อย ๆ จากปัญหาสงครามการค้า ที่จะกระทบต่อภาคการผลิต ส่งผลทำให้การบริโภคแผ่วลงได้ การจ้างงานอาจไม่ได้เร่งแรง การท่องเที่ยวไตรมาส 2-3 เป็นช่วงโลว์ซีซั่น
รวมถึงประชาชนมีการระวังเรื่องการใช้จ่าย จึงอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องได้ แต่ยังเติบโต แต่จะโตช้าลงไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ภาพรวมปี2568 อาจเติบโตได้เพียง 2.7% ส่วนปัญหาเรื่องหนี้ มองว่า มาจาก SME และกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจากช่วงโควิด-19 ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของรัฐจะต้องไปแก้ไขเฉพาะจุด ที่มีปัญหาจริงๆ และไปช่วยกลุ่มเหล่านั้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะไม่เหมือนกัน
“การซื้อหนี้ไทยเคยมีโมเดลนี้ปี2540 ที่ผ่านมา แต่วันนี้มันไม่เหมือนเดิม และเราจะใช้เครื่องไม้ เครื่องมือเดิมหรือเปล่า เข้าใจหลักการว่าวันนี้สินเชื่อติดลบ รัฐจึงอยากให้สินเชื่อเติบโตได้ดีขึ้น แต่หากทำไปแล้วก็อยากให้สินเชื่อเติบโตได้อย่างยั่งยืน คนที่กู้ไปก็ไม่ได้กลับมาเป็น NPL ใหม่”
ส่วนมาตรการ LTV มีความเห็นว่าสนับสนุนอยู่แล้วที่ทำก็เป็นระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า วันนี้ต้องเข้าใจว่าคนที่อยากมีบ้าน คงไม่ได้อยากไปเก็งกำไรเหมือนในอดีต เพราะมาตรการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อปราบปรามคนเก็งกำไร ซื้อบ้านหลังที่2 หลังที่ 3 เก็งกำไรว่าราคาจะเพิ่มขึ้นสูง บางรายลงทุนปล่อยเช่า แต่ขณะนี้ไม่ได้มีการเห็นภาพนี้ขนาดนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท กำลังซื้อไม่มี ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ กู้ไม่ได้ โดยแนะนำว่าจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ทำควบคู่กันไปในการแก้ไขปัญหาเรื่องเครดิตด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เครดิตบูโร เปิดข้อมูล "หนี้ครัวเรือน" หนี้เสีย 1.2 ล้านล้าน เข้าขั้นวิกฤตแล้ว
"คลัง" ขานรับแนวคิด "ทักษิณ" จ่อซื้อหนี้เสียประชาชน เล็งหารือ
หนี้เสียอสังหาฯ พุ่ง 'สินเชื่อบ้าน' ดิ่งเหวแบงก์ปฏิเสธสินเชื่ออื้อ วิบากกรรมอสังหาฯไทย