svasdssvasds

เรียกร้อง DSI สอบคดีทหารไทยทรมานชาวเมียนมาเสียชีวิต

เรียกร้อง DSI สอบคดีทหารไทยทรมานชาวเมียนมาเสียชีวิต

สภาทนายความประเทศไทย รับคำร้องจากฟอร์ตี้ฟายไรต์ ให้ตรวจดูคดีชาวเมียนมาถูกทหารไทยทรมานจนเสียชีวิต  พร้อมเร่งให้ DSI มีการสืบสวนคดีพิเศษ หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้วกว่าหนึ่งปี แต่เรื่องยังเงียบ

สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์รับคำร้องให้ตรวจดูคดีที่นายอ่องโกโก พลเมืองสัญชาติเมียนมา อายุ 37 ปี เสียชีวิตหลังจากถูกทหารไทยควบคุมตัวและทรมานอย่างโหดร้ายเมื่อเดือนมกราคม 2567 ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าววันนี้ ในการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ สภาทนายความฯ ยืนยันว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันคดีให้มีความคืบหน้า ร่วมกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อสภาทนายความ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ส่งมอบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือแก่ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เกี่ยวกับกรณีที่อ่องโกโกถูกทรมานจนเสียชีวิตโดยทหารไทยที่พรมแดนไทย-เมียนมา โดยทางองค์กรยังได้เน้นย้ำถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการตัดสินคดีจนเป็นเหตุให้นายศิรชัช (ไม่มีนามสกุล) พลเมืองสัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นการสังหารดังกล่าวได้รับโทษ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ขอให้สภาทนายความเน้นย้ำให้ทางการไทยทำการสืบสวนอย่างรอบด้าน เป็นอิสระ และเป็นกลางต่อการเสียชีวิตของอ่องโกโก และประกันให้มีความรับผิดชอบและความยุติธรรม 

“การมุ่งมั่นรับพิจารณาคดีนี้ของสภาทนายความฯ เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะช่วยยุติการทรมานในประเทศไทย และประกันว่าอ่องโกโกและครอบครัวของเขาจะได้รับความยุติธรรม” แมทธิว สมิธ (Matthew Smith) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “การสอบสวนพิเศษอย่างเป็นกลางต่อการเสียชีวิตของอ่องโกโกจะช่วยประกันความยุติธรรม และป้องกันการกระทำที่เป็นการทรมานในอนาคต และเราพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตามที่ต้องการ”

ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (DSI) พิจารณาข้อกังวลของสภาทนายความ และเสนอให้มีการเริ่มการสืบสวนเพื่อค้นหาความจริง และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย 

“เราจะตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือต่อไปไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา” ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าว 

ในวันที่ 12 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 11 โมงเช้า เจ้าหน้าที่ทหารไทยสี่นายควบคุมตัวอ่องโกโกใกล้กับสะพานไม้ขนาดเล็ก ในบริเวณพื้นที่ 70 ไร่ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประจักษ์พยานอธิบายกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ทหารสามนายได้ทุบตีอ่องโกโกอย่างรุนแรง โดยใช้ท่อนไม้ที่มีความยาว จากปากคำของประจักษ์พยานที่ให้กับฟอร์ตี้ฟายไรต์ และจากภาพถ่ายของศพที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้นำมาวิเคราะห์พบว่า อ่องโกโกมีรอยแผลฟกช้ำที่รุนแรงและมีบาดแผลที่มีเลือดไหลแผ่นหลังของเขาเกือบทั้งหมดมีรอยแผลฟกช้ำอย่างรุนแรง ทั้งยังมีรอยฟกช้ำอยู่บนหน้าผาก โหนกแก้มทั้งสองข้างและที่จมูก โดยรายงานชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการของอ่องโกโกที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้รับมา ระบุว่า อ่องโกโกเสียชีวิตเพราะ “ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ จากการถูกทำร้ายร่างกาย” 

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ตีพิมพ์รายงานความยาว 42 หน้าเรื่อง ความตายที่พรมแดนไทย-เมียนมา: การควบคุมตัว การทรมาน และการสังหารอ่องโกโก พลเมืองสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย ให้รายละเอียดการทรมานและการสังหารอ่องโกโก รายงานยังเน้นย้ำถึงปัญหาและข้อบกพร่องที่สำคัญในการสืบสวนของตำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอ่องโกโก ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีกับศิรชัช ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาศิรชัชที่ออกโดยตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรแม่สอด ได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ทหารไทยต่อการเสียชีวิตของอ่องโกโก รวมไปถึงคำให้การต่าง ๆ ที่ปรากฏระหว่างการพิจารณาคดีของศิรชัชก็แสดงความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ทหารไทยด้วยเช่นกัน

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับเอกสารแนบเป็นรายงานภาษาไทยส่งมอบให้กับสภาทนายความ รวมทั้งสำนวนคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ส่งจดหมายถึงคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร อธิบายถึงความกังวลเกี่ยวกับการสังหารอ่องโกโก และการดำเนินคดีศิรชัชเกี่ยวกับความผิดอาญาที่เกิดจากการกระทำของทหารไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ตัวแทนของกองทัพไทยและสถานีตำรวจภูธรแม่สอด ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอ่องโกโก

ในระหว่างการให้ถ้อยคำ ตัวแทนของทหารไทยปฏิเสธว่า กองกำลังของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรมานและการเสียชีวิตของอ่องโกโก แต่ระบุว่าผู้ก่อเหตุเป็น “กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง” ที่ไม่ทราบฝ่าย ซึ่งอยู่ในฝั่งเมียนมา ตัวแทนของทหารปฏิเสธว่า ทหารไทยไม่ได้ทรมานอ่องโกโก ซ้ำยังให้เหตุผลอันน่าเหลือเชื่อว่า ชุดเครื่องแบบของกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงไม่ทราบฝ่ายดังกล่าว มีลักษณะคล้ายคลึงกับชุดเครื่องแบบของทหารไทย 

ประจักษ์พยานหลายคนเห็นเจ้าหน้าที่ทหารไทยขณะที่จับกุมและทรมานอ่องโกโกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 โดยมีประจักษ์พยานหลายคนที่ได้บรรยายถึงชุดเครื่องแบบและอาวุธของทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวและซ้อมทรมานอ่องโกโก ทุกคนบอกว่ามีลักษณะเหมือนกับชุดเครื่องแบบของทหารไทย รวมทั้งเป็นอาวุธแบบเดียวกับที่ทหารไทยใช้ และไม่เหมือนกับชุดเครื่องแบบหรืออาวุธของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของชาวกะเหรี่ยงในเมียนมา ประจักษ์พยานหลายคนที่เห็นเหตุการณ์เป็นสมาชิกกลุ่มชรบ. ซึ่งเป็นอาสาสมัครระดับชุมชนที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย พวกเขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับทหารไทย มีการสื่อสารโดยตรงกับทหารซึ่งควบคุมตัวอ่องโกโก และสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างทหารไทยและทหารกะเหรี่ยงได้อย่างง่ายดาย 

“การอ้างว่าการสังหารเกิดขึ้นในฝั่งเมียนมา ไม่เพียงแต่จะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ยังขัดแย้งกับการฟ้องคดีต่อศิรชัช ผู้ซึ่งถูกศาลไทยตัดสินว่ามีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายในฝั่งไทย ไม่ใช่ในฝั่งเมียนมา” แมทธิว สมิธกล่าว “การประกันให้เกิดความยุติธรรมในคดีนี้เป็นสิ่งที่ดีสุดที่จะสะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและระดับสากลที่มีต่อการยุติการทรมานและการลอยนวลพ้นผิด”

ทางการไทยยังได้มีคำกล่าวอ้างอีกหลายประการระหว่างให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการการทหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อมูลตามรายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ 

“มันไม่ง่ายเลย เพราะเราไม่ได้เผชิญหน้ากับคนธรรมดา” หนึ่งในสมาชิกครอบครัวของอ่องโกโกที่ขอสงวนนาม กล่าว “เราไม่ท้อ แต่เรากลัว เราต้องการความจริง เพราะคน ๆ หนึ่งต้องตาย เราหวังว่าจะได้รับคำตอบจากพวกเขา”

สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีหน้าที่รับรองสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นองค์กรเอกชนที่มีความเป็นอิสระและมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานด้านวิชาชีพและการปฏิบัติหน้าที่ของนักกฎหมายไทย สภาทนายความยังมีพันธกิจที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายทั้งในคดีแพ่งและอาญา นอกจากนี้นายกสภาทนายความยังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการคดีพิเศษของ DSI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคัดเลือกคดีให้เป็นคดีพิเศษ

DSI เป็นหน่วยงานพิเศษภายใต้กระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีที่มีความสำคัญและมีความละเอียดอ่อน รวมทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอยังมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทย ทั้งมีหน่วยสอบสวนพิเศษสองหน่วยซึ่งทำหน้าที่สอบสวนความผิดฐานการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นการเฉพาะ รวมทั้งคณะทำงานพิเศษในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้ 

สิทธิที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการทรมานเป็นสิทธิที่ไม่อาจเลี่ยงพันธกรณี หมายถึงว่ารัฐทุกแห่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศของไทย รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังรับรองสิทธิที่จะมีชีวิตรอด และคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากการทรมานและการจับกุมโดยพลการ

“เราเผยแพร่ความตั้งใจของประเทศไทยที่จะแสดงจุดยืนต่อการยุติการทรมานและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดนี้” แมทธิว สมิธกล่าว “เราขอชื่นชมสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์กับบทบาทการทำงานที่สำคัญ และความใส่ใจต่อคดีนี้ เรายังมีความหวังว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น”

related