svasdssvasds

เห็นด้วยไหม? สร้างรั้วกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา

เห็นด้วยไหม? สร้างรั้วกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา

โฆษกกลาโหม แจงสร้างกำแพง 55 กม. กั้นตามแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ ยังไม่ได้เริ่มสร้าง หลังภูมิธรรมลงพื้นที่สระแก้ว พบช่องทางธรรมชาติ เสี่ยงต่อการหลบหนีเข้าเมือง สวนกระแสนักวิชาการเตือน อาจเปิดแผลปักปันเขตแดน แนะควรแก้ปัญหาคอร์รัปชันก่อน

SHORT CUT

  • กระทรวงกลาโหม แถลงสร้างรั้ว 55 กม. กั้นชายแดนไทย-กัมพูชา แค่แนวคิด ยังต้องศึกษาก่อน
  • "ปณิธาน" แนะสร้างรั้วเป็นเพียงสัญญะ หากทำต้องใช้ Smart Fence ควบคู่การลาดตระเวน
  • "ปิติ" ค้านสร้างรั้ว เพราะอาจกระทบปัญหาปักปันชายแดนที่ยังไม่เสร็จ แนะควรปราบคอร์รัปชันชายแดนก่อน

โฆษกกลาโหม แจงสร้างกำแพง 55 กม. กั้นตามแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ ยังไม่ได้เริ่มสร้าง หลังภูมิธรรมลงพื้นที่สระแก้ว พบช่องทางธรรมชาติ เสี่ยงต่อการหลบหนีเข้าเมือง สวนกระแสนักวิชาการเตือน อาจเปิดแผลปักปันเขตแดน แนะควรแก้ปัญหาคอร์รัปชันก่อน

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยในพื้นที่นี้มีช่องทางธรรมชาติที่ติดกับพรมแดนประเทศกัมพูชายาว 165 กิโลเมตร และมีการบูรณาการวางลวดหนามประมาณ 55 กิโลเมตร ที่เหลือก็ยังคงเป็นช่องทางธรรมชาติ ติดกับพื้นที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ถือเป็นจุดล่อแหลมในการหลบหนีเข้าเมือง หน่วยงานความมั่นคงไม่สามารถตรวจการณ์ได้ตลอดเวลา จึงเสนอสร้างกำแพง เพื่อให้ให้การตรวจสอบง่ายขึ้น พร้อมติดกล้องวงจรปิด และเครื่องปั่นไฟที่จะส่งสัญญาณแจ้งเตือน จะทำให้เห็นภาพมีใครข้ามไปมา เจ้าหน้าที่ก็จะสะดวกในการปฏิบัติงาน

“ยืนยันว่าเป็นเพียงแผนงานของรัฐบาลที่จะนำมาพิจารณา เพื่อหาแนวทางร่วมกันอีกครั้งเรื่องการสร้างกำแพง ปัจจุบันยังไม่มีการสร้างกำแพง เพราะยังเร็วเกินไป และยังต้องศึกษารูปแบบแนวทาง ภายใต้พื้นที่ที่ชัดเจน ที่ต้องไม่ติดพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของคนทั้งสองประเทศ ซึ่งมีของเอกชนที่ทำไปได้บ้างแล้ว ส่วนเส้นทาง 55 กิโลเมตร ที่จะดำเนินการเป็นช่องทางธรรมชาติ และเป็นจุดล่อแหลม” พล.ต.ธนาธิป กล่าว

ทั้งนี้ นายภูมิธรรม กล่าวถึงการสร้างกำแพงเเนวชายเเดน 55 กิโลเมตร ขณะลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เมื่อวันพุธที่ 12 ก.พ. 2568 ว่า ต้องไปดูรายละเอียด เพราะมีเเบบอย่างต่างประเทศสร้างกำแพงชายเเดน เช่น สหรัฐอเมริกา เราก็ต้องไปดูว่าการสร้างกำแพงของประเทศไทย จะป้องกันปัญหาเรื่องอะไร แล้วจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด โดยยังไม่ตอบความคืบหน้ากับผู้สื่อข่าว เพราะต้องไปดูเรื่องทางเทคนิคเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงปูน ลวดหนาม หรือตาข่าย เป็นต้น

มุมมองนักวิชาการ "ล้อมรั้วชายแดน" ทำได้จริงไหม?

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ให้ความเห็นว่า วิธีการล้อมรั้วประเทศฟังดูเหมือนย้อนยุค แต่ประเทศไทยกับมาเลเซียเคยทำมาแล้ว เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน โดยการจัดระเบียบชายแดนด้วยแนวรั้วไฟฟ้า กล้องวงจรปิดและโซลาร์เซลล์ ควบคู่ไปกับการลาดตระเวนร่วมกัน แต่สุดท้ายรั้วและกล้องวงจรปิดก็ถูกทำลาย ก่อนที่จะทำรั้วเพิ่มเราจึงต้องถอดบทเรียนว่าทำไมถึงกรณีนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ

รศ.ปณิธาน ยกตัวอย่างว่า กำแพงอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือแม้แต่สหรัฐ-เม็กซิโก สุดท้ายก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ ที่ยังมีการขุดหรือตัดรั้วเพื่อลักลอบเข้าประเทศอยู่ดี แต่ถ้าจะให้สำเร็จต้องใช้ "รั้วอัจฉริยะ (Fence)" ที่มีกระดิ่งและกล้องวงจรปิดเพื่อส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่ หากมีการลักลอบข้ามแดน ผสมกับการลาดตระเวนและวางกำลังไว้ใกล้ๆ ถ้ามีการข้ามพรมแดนผิดกฎหมายเข้ามาก็จับกุมเลย

อย่างไรก็ตาม รศ.ปณิธาน เตือนว่า การล้อมรั้วถือเป็นการกระทำทางการเมืองเป็นเพียงสัญญะให้คนรู้สึกสบายใจขึ้น แต่ไม่ควรลงทุนมาก และอาจจะปักได้ไม่รอบ เพราะพื้นที่ชายแดนบางจุดยังไม่มีความชัดเจนในการปักปันเขตแดน อาจสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นการยืนยันพื้นที่ และเกิดความขัดแย้งเรื่องพรมแดนได้

ด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษาและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า มาตรการนี้ไม่ควรทำ เนื่องจากการปักปันเขตแดนในหลายจุดยังไม่เสร็จ และระยะทางที่ยาวมากทำให้การดูแลรักษารั้วเป็นเรื่องลำบากและใช้งบประมาณมาก แต่ควรให้ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดรัดกุม รวมทั้งไม่ให้มีการคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการลักลอบกระทำผิดกฎหมายบริเวณชายแดนด้วย

related