svasdssvasds

ไทยเข้าสู่ "ฤดูร้อน" ช่วงปลายเดือน ก.พ. คาดอุณหภูมิสูงสุดเฉียด 43 องศา

ไทยเข้าสู่ "ฤดูร้อน" ช่วงปลายเดือน ก.พ. คาดอุณหภูมิสูงสุดเฉียด 43 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดประเทศไทยจะเข้าสู่ "ฤดูร้อน" ช่วงปลายเดือน กุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2568 อุณหภูมิสูงสุด แตะ 43 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ประเทศไทย จะเข้าสู่ 'ฤดูร้อน 2568' ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2568 อุณหภูมิสูงสุด 43 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ 'ฤดูร้อน' ของประเทศไทย บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นและกลางเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ แต่จะมีกำลังอ่อน 

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่

อุณหภูมิสูงที่สุด 42 - 43 องศาเซลเซียส และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง ส่วนในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆ กับมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ภาคใต้ ช่วงเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

จากนั้นจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้

เกณฑ์การประกาศเข้าสู่ “ฤดูร้อน” ของประเทศไทยว่า มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก 

  1. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่มากกว่า 35 องศาเซลเซียสขึ้นไปบริเวณประเทศไทยตอนบน กล่าวคือโดยทั่วไปก็จะร้อนขึ้น หรือ 35 องศา ปกคลุมบริเวณทางภาคเหนือ ภาค อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำให้เราพิจารณาเป็นเกณฑ์แรก อาจจะ 1 วันหรือ 2 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  2. เกณฑ์ในเรื่องของลม ทิศทางของลม จากเดิมที่เรามีลมหนาวหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนลงมา แต่ต่อจากนี้ไปเมื่อเปลี่ยนเป็นฤดูร้อนจะเป็นลมทิศใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ลมฝ่ายใต้พัดเข้ามาแทนที่

เกณฑ์ที่จะเปลี่ยนเข้าฤดูร้อนคือ 2 เกณฑ์ใหญ่นี้ และอากาศร้อนก็จะพิจารณาจากอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะไม่เกิน 40 องศา คือจะอยู่ที่ 39.5 องศา เพราะถ้าเกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เราจะเรียกว่าเป็นอากาศร้อนจัด หรือตั้งแต่ 40.1 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ข้อควรระวังในช่วงฤดูร้อน 2568

  • อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ ลักษณะอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย ประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วย
  • อากาศร้อนจัด ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็กจึงขอให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ และหมั่นตรวจสอบดูแลคนในครอบครัวให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
related