อนุ กมธ.ขับเคลื่อนนโยบายฯ จี้ “ชัชชาติ” ประกาศ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมแก้ฝุ่น PM2.5 แนะปิดไซต์ก่อสร้าง เพื่อเป็นการกดดันรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำ
วันที่ 22 มกราคม 2568 นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ในคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการฯ แถลงผลการพิจารณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ภายหลังอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ มีความกังวลต่อสุขภาพของเด็กเล็ก และผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ยังไม่ออกมาตรการเข้มข้นในการรักษาคุณภาพชีวิตประชาชน หรือมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นในกรุงเทพฯ
อนุกรรมาธิการฯ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพฯ ประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งเคยประกาศมาแล้วในปี 2562 เนื่องจากฝุ่น PM2.5 วิกฤตพอสมควร เพื่อให้ผู้ว่ากรุงเทพฯ มีอำนาจเต็มในการสั่งปิดสถานประกอบการ หรือไซท์ก่อสร้าง รวมถึงสถานศึกษาชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบ จึงถึงเวลาที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ จะให้ความสำคัญ และเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว ตามที่ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ผ่านมา
สำหรับเรื่องการปิดโรงเรียน คณะอนุกรรมาธิการได้ตั้งคำถามว่าโรงเรียนที่ปิดไปแล้ว มีการเรียนออนไลน์หรือไม่หรือไม่มีการเรียนการสอนเลย ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าในบางโรงเรียนมีการเรียนออนไลน์ และในบางโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนชดเชยได้ ซึ่งกรณีนี้หากกรุงเทพมหานครออกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ จะสามารถแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้าให้เตรียมความพร้อมและแผนรับมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการเรียน
นอกจากการพิจารณาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครแล้ว คณะอนุกรรมาธิการยังได้มีการพิจารณาการดำเนินโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช - ลาดกระบัง ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้การดำเนินโครงการยังมีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากมีการปรับแบบของโครงการใหม่ และภายหลังเหตุการณ์ทางยกระดับทรุดตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ดำเนินการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว เป็นเงินจำนวน 8,280,886 บาท
สำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดำเนินการเยียวยาเสร็จสิ้นแล้ว 356 ราย คงเหลือ 25 ราย ที่อยู่ระหว่างการเจรจาคณะอนุกรรมาธิการยังได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมกรณีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโรยัลปาร์ควิลล์ ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมาธิการรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ได้แนะนำให้ผู้ร้องประสานงานกับกรมที่ดินเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารประกอบการยื่นคำขอจัดตั้งนิติบุคคลให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แล้วจึงยื่นคำขอจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรอีกครั้ง
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะอนุกรรมาธิการได้พิจารณาคือปัญหาที่อยู่อาศัยของข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาคารสงเคราะห์ไม่เคยได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมทั้งระบบ จึงเป็นเหตุให้โครงสร้างอาคารชำรุดทรุดโทรม ระบบสาธารณูปโภคเสื่อมสภาพ เกิดท่อรั่วท่อแตก ระบบความปลอดภัยใช้การไม่ได้ และมีห้องพักชำรุดไม่สามารถจัดคนเข้าพักอาศัยได้กว่าหนึ่งพันห้อง
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าหากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 เพื่อปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมทั้งระบบ จะส่งผลให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงและซ่อมแซมอาคารสงเคราะห์ สามารถนำรายรับไปปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พักอาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัยให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ขึ้นบัญชีรอเข้าพักอาศัยกว่าหนึ่งพันครอบครัว ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน มีแรงขับเคลื่อน และมุ่งมั่นในการปฏิบัติราชการให้แก่กรุงเทพมหานครอย่างเต็มกำลังความสามารถต่อไป
ขณะที่ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรีนายพีระพันธุ์ สาลรัฐวิภาค โฆษกคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังระบุว่า อนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอกรณีศึกษาการดำเนินการของต่างประเทศ เป็นต้นแบบให้กรุงเทพมหานครได้พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้เป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น โดยขอให้กรุงเทพฯ ยึดหลักปฏิบัติเหมือนประเทศเกาหลีใต้ที่ “คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าเงินตราที่เสียไป” พร้อมทั้งเสนอให้พิจารณามาตรการปิดไซท์ก่อสร้าง เพื่อเป็นการกดดันรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำในทางอ้อม และติดตั้งป้ายเตือนภัยค่าฝุ่น PM2.5 ในบริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ ทางเข้าสวนสาธารณะทุกแห่ง เพื่อให้เป็นมาตรการระยะสั้น รวมถึงมาตรการระยะยาวนั้น ให้พิจารณากำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone”