SHORT CUT
กระทรวงสาธารณสุข เผย คนไทย 38 ล้านคน อยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เป็นกลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน เกิดค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพกว่า 3,000 ล้านบาท ชี้ทำอายุเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี
เมื่อท่านเปิดมือถือแล้วดูแอปพลิเคชันคุณภาพอากาศวันนี้ (22 มกราคม 68) เชื่อว่าหลายคนคงจะต้องร้องคำว่า คุณพระ หรือ โอ้แม่เจ้า หลัง กทม.รายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 50 เขต มีพื้นที่สีแดง 5 เขต ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 62.6 มคก./ลบ.ม.จนทำให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 103 แห่ง ประกาศคำสั่งปิดโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เรื่องนี้ทำให้ กทม. ต้องเกาะติด เพราะหากยังไม่ดีขึ้นพร้อมใช้อำนาจสั่งปิดโรงเรียน ไม่จำกัดระยะเวลา
แน่นอนว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 บ้านเรายังน่าเป็นห่วง จึงทำให้เมื่อเร็วๆนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสส.)ทั่วประเทศ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2568 ว่า ข้อมูลกรมควบคุมโรค ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2567 สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ใน 6 โรค 1,048,015 ราย แยกเป็น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 226,423 ราย โรคตาอักเสบ 357,104 ราย โรคผิวหนังอักเสบ 442,073 ราย โรคหืด 18,336 ราย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4,051 ราย และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 28 ราย
พร้อมทั้งได้ออกมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 มาตรการ ตามระดับความรุนแรงของค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ดังนี้
โดยติดตามสถานการณ์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนผ่านระบบดิจิทัล เช่น Platform หมอพร้อม, SMART อสม. ครอบคลุมทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 จัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการและพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุน มุ้งสู้ฝุ่น"รวมถึงพิจารณา Work From Home สำหรับกลุ่มเปราะบางเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
โดยขยายเครือข่ายบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม ทั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ คลินิกเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาคลินิกมลพิษออนไลน์ จัดระบบนัดหมายคลินิกมลพิษระบบผ่านหมอพร้อม และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่/ทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียนประจำ เป็นต้น และ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หากสถานการณ์รุนแรง ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้ พรบ.การสาธารณสุข ควบคุมฝุ่นละออง
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีห้องปลอดฝุ่นแล้วจำนวน 4,700 ห้องใน 56 จังหวัด แบ่งเป็นสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข 3,009 ห้อง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียน 858 ห้อง อาคารสำนักงาน 457 ห้อง และร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ 376 ห้อง ส่วนมุ้งสู้ฝุ่นที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านมีการกระจายใน 34 จังหวัด รวม 1,338 ชุด โดยจะมีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยและมุ้งสู้ฝุ่นที่จุดเสี่ยงและหน่วยบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม
นอกจากนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก กรมอนามัย ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ และอื่นๆ กว่า 2,000 – 3,000 ล้านบาท กว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล การใช้มุ้งสู้ฝุ่นในกลุ่มติดเตียง จะสามารถลดการเข้ารักษาใน รพ. ได้มากกว่า 1,800 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลของโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ อาทิ หอบหืด 2,752 บาท ต่อครั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 16,000 บาท มะเร็งปอด 141,100 - 197,600 บาท
อย่างไรก็ตามยัง พบอีกว่า 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (37.5 มคก./ลบ.ม.) 15 ล้านคนหรือ 1 ใน 5 เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และ เด็กเล็ก ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพ PM2.5 ทำให้ค่าอายุเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี
แน่นอนว่าวันนี้ฝุ่น PM2.5 บ้านเรายังสูง และกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตผู้คน ที่คนไทยก็ยังรอความหวังที่จะกลับมาหายใจอย่างเต็มปอดอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ !!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง