svasdssvasds

การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ประเทศไทย 2568 เราต้องรับมือกับอะไรบ้าง?

การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ประเทศไทย 2568 เราต้องรับมือกับอะไรบ้าง?

การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2568 หลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่นับได้ว่าเป็นปีแห่งความโกลาหลทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่แวดวงกระบวนการยุติธรรม

รับมือกับการเมืองบนความสั่นคลอน

ไม่มีใครคาดคิดว่ากลางปีที่ผ่านมาเราต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศแบบกระทันหัน หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากเก้านายกรัฐมนตรีในข้อกล่าวหาผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีตั้งพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

‘แพทองธาร ชินวัตร’ อีกหนึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนถัดมา ใต้เงาของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่ออย่างปฏิเสธไม่ได้ 

การมารับช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อของแพทองธาร ไม่ได้แปลว่ารับช่วงแต่ตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังรับเอาความรับผิดชอบปัญหาต่างๆ ของประชาชนมาไว้ในมือด้วย

บทพิสูจน์ของรัฐบาลในปีหน้าคือการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ค่าครองชีพพื้นฐานที่ทุกคนบ่นร้อง และการนำนโยบายที่ได้แถลงหรือหาเสียงไว้มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมปรากฎต่อประชาชน เพราะเวลาของรัฐบาลตามวาระก็เดินทางมาถึงครึ่งเทอมในกลางปี 2568

โจทย์ของรัฐบาลแพทองธารนอกจากต้องรีบเร่งแก้ปัญหาประชาชนแล้ว ยังต้องประคับประคองพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่มีเรื่องให้ต้องต่อรอง ร่วมมือ ขัดแย้ง วนอยู่เรื่อยมา รวมถึงวาระทางการเมืองต่างๆ ที่ทยอยเดินทางมาถึงตามเวลา ทั้งเรื่องนิรโทษกรรม แก้รัฐธรรมนูญ และเรื่องร้องเรียนอีกนับไม่ถ้วน


 

รับมือกับเศรษฐกิจ ‘เผาจริง’ ทุกปี

‘ปีหน้าเผาจริง’ คำที่มักจะได้ยินทุกสิ้นปี แต่สถานการณ์เศรษฐกิจตลอดช่วงทรรศวรรษที่ผ่านมาก็เผาจริงมาตลอดทุกปี ซ้ำเติมด้วยวิกฤตโรคระบาด ลามมาถึงหนี้ครัวเรือนที่พุ่งทะยานต่อเนื่อง

วิกฤตเศรษฐกิจในห้วงเวลานี้คือการที่คนทั่วไปรู้สึกไม่มีเงินในกระเป๋า รายได้ไม่พอรายจ่าย ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น แม้ไม่ฟุ่มเฟือยแต่ก็ไม่พอใช้

นี่ไม่ใช่เพียงแต่ความรู้สึก แต่ถ้าดูตัวเลขแบบพื้นๆ ก็พออนุมานได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหากย้อนกลับไป 10 ปี คือปี 2557 วันนั้นเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 15,000 พอๆ กับวันนี้ แต่ค่าครองชีพยังถูกกว่านี้ซักครึ่งหนึง

แต่โจทย์ที่เป็นระเบิดเวลาจริงๆ ในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือน ที่เหมือนระดับน้ำค่อยๆ ไต่มาถึงคอ และกำลังกดคนไทยจมลงไปพร้อมๆ กัน เพราะระดับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ระดับการผิดนัดชำระเพิ่มต่อเนื่อง นั่นแปลว่าเราเริ่มจะ ‘ไม่ไหว’ กันแล้วจริงๆ

รัฐบาลจึงพยายามออกมาตรการเพื่อช่วยพยุงคนกลุ่มนี้ ทั้งมาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ที่ถึงแม้จะไม่ได้ครอบคลุมคนทุกกรณี แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างไรก็ตามก็ยังต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งในระยะยาวไม่ได้สามารถแก้ได้ด้วยมาตรการชั่วครั้ง ชั่วคราว

ผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซ้ำเติมเศษฐกิจอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงความมั่นใจของนักลงทุน ความแน่นอนทางนโยบายของรัฐบาล หรือเรียกรวมๆ ว่าเสถียรภาพของประเทศที่มีความต่อเนื่อง คาดการณ์ได้


 


รับมือน้ำท่วมหนัก ฝุ่นซ้ำๆ ยังไร้แผนรับมือ

ปี 2567 ที่ผ่านมา เราเจอน้ำท่วมหนักทั้งเหนือสุดคือแม่สาย เชียงราย เชียงใหม่ เหนือตอนบนอย่างพะเยา หรือแม้แต่ทางตอนใต้สุดอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดสัญญาณหนึ่งที่ความแปรปวนของสภาพอากาศโลกกระทบต่อพวกประชาชนโดยตรงที่สุด โดยเฉพาะน้ำที่ท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กินพื้นที่กว้าง รวดเร็ว และการช่วยเหลือที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก

และช่วงเวลาปลายปีจนถึงต้นปีของทุกๆ ปี เราต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 มาต่อเนื่องหลายปี และมีแนวโน้มที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นทุกปี อีกทั้งยังไม่ได้มีแนวทางหรือนโยบายที่ชัดเจนว่า สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่เริ่มดีขึ้นภายในกี่ปีอย่างไร เพราะทุกคนรู้ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถแก้ไขได้ทันทีในระยะเวลาอันสั้นได้

หากเราพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจจะรู้สึกกว้างขวาง ห่างไกลจากตัวเอง แต่หากเราพูดถึง 2 ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมข้างต้นคือปัญหาน้ำท่วมและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือPM 2.5 เชื่อได้ว่าผู้อ่านหากไม่ได้รับผลกระทบเอง ก็ย่อมมีคนรู้จัก ญาติสนิท ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ทำให้เราต้องตระหนักว่าเรารวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะคิดแก้ปัญหาหรือรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้สายเกินไป

รับมือกับกระบวนการยุติธรรม (แบบไทยๆ)

ปี 2567 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่เรามีคดีสำคัญๆ และบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงเดินเข้าเรือนจำ ทั้งเรื่องการฉ้อโกง แชร์ลูกโซ่ หรือแม้แต่การถูกหลอกลวง

แต่ปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงกันมากคือ ยอดภูเขาน้ำแข็งของกระบวนการยุติธรรม หรือหน้าฉากกลับกลายเป็นพื้นที่ของทนายดังหรืออินฟูเรนเซอร์ที่ออกมาพิทักษ์ความยุติธรรม หรือเป็นหน่วยแรกที่ผู้เดือดร้อนจะนึกถึงแทนที่จะเป็นตำรวจอย่างที่ควรเป็น

หรือหากมองสภาพการณ์ปัจจุบันก็คือว่าตำรวจจะออกมาขยับหรือเปิดปฏิบัติการหลังจากที่เหล่าทนายดังหรืออินฟูเรนเซอร์นำผู้เสียหาย หรือผู้มาร้องเรียนเปิดประเด็นต่อสื่อมวลชนจนกระทั่งประชาชนให้ความสนใจไปแล้ว

เมื่อมองลึกเข้าไป กระบวนการยุติธรรมที่ปฐมภูมิ หรือใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือตำรวจที่มีอยู่ทุกหนแห่ง แต่ว่าเหตุใดประชาชนไม่นึกถึง เพราะไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธา ไม่หวังพึ่งพาตำรวจอีกแล้วหรือไม่

เราจำเป็นต้องกลับมาทบทวนหรือไม่ว่าตกลงแล้ว ‘กระบวนการยุติธรรม’ แบบที่ควรจะเป็นควรเป็นอย่างไร บทบาทของตำรวจในฐานะผู้พิทักษณ์ความยุติธรรม จะกลับมาทำให้ประชาชนนึกถึงเป็นคนแรกได้อย่างไร ยังไม่รวมถึงการตั้งคำถามถึง 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมอีกมากมาย

related