SHORT CUT
ในช่วงที่ผ่านมา วัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานเกาหลีใต้เริ่มเผชิญการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่รักสุขภาพ กล้าปฏิเสธ ต้องการเวลาพักผ่อน
วัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงาน หรือที่คนเกาหลีใต้เรียกว่า "โฮซิก" (Hoesik) เป็นหนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลี โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ สำหรับหลายคน มันเป็นโอกาสที่เจ้านายและเพื่อนร่วมงานจะได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนอกเหนือจากเวลางาน บรรยากาศของโฮซิกมักประกอบไปด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เช่น โซจูหรือเบียร์ ควบคู่กับการรับประทานอาหารในร้านปิ้งย่างหรือบาร์เล็ก ๆ
กิจกรรมนี้ไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิง แต่ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน และเป็นเรื่องปกติที่ที่หลายคนต้องเข้าร่วมวงดื่มหลังเลิกงาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา วัฒนธรรมนี้เริ่มเผชิญการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นคือภาพของผับและบาร์ที่แทบเกือบจะว่างเปล่าเรียงรายตามตรอกและถนนที่ประดับด้วยแสงไฟนีออน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวัฒนธรรมการดื่มอันเลื่องชื่อของเกาหลีใต้
การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์กรต่างๆ ในเกาหลีชะลอการจัด "โฮซิก" หรือการดื่มหลังเลิกงาน นอกจากนี้ ยังมีการปรากฏตัวของกลุ่มพนักงานหญิงรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงจุดยืนปฏิเสธการเข้าร่วมกิจกรรมดื่มสุราเหล่านี้ รวมถึงความไม่เต็มใจของผู้บริโภคที่จะใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่
การลดลงของวัฒนธรรมการดื่มนี้ยังสะท้อนถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในด้านสุขภาพและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น โดยผู้คนหันมาสนใจการใช้จ่ายในด้านฟิตเนสและกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพแทน
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้ลดลงถึง 12% จากจุดสูงสุดในปี 2015 ซึ่งถือเป็นอัตราการลดลงที่เร็วเป็นอันดับสองในบรรดาประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ดัชนีที่วัดยอดขายในร้านอาหารท้องถิ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 88.4 เมื่อปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่ ขณะที่จำนวน โนราแบง (ห้องคาราโอเกะ) ก็ลดลงเหลือ 25,990 แห่งในเดือนกรกฎาคมปีนี้ จาก 28,758 แห่งในปี 2020 ตามรายงานของสมาคมการค้า
หากเดินทางเข้าไปในเขตจงโน ในโซลเพียงหนึ่งชั่วโมง จะพบภาพที่น่าเป็นห่วง เพราะถนนการค้าซึ่งรายล้อมไปด้วยอาคารสำนักงานกลับเต็มไปด้วยร้านค้าที่ปิดกิจการและป้ายประกาศให้เช่าที่เห็นได้ทั่วไป
ในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้เคียง ความตระหนักเรื่องสุขภาพที่เพิ่มขึ้นและรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นซึ่งเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเช่นกัน ตามผลสำรวจของ Euromonitor บริษัทวิจัยการตลาดในลอนดอน
ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเริ่มแสดงความไม่พอใจต่อวัฒนธรรมโฮซิก เนื่องจากมันทำให้พวกเธอเสียเวลาในการดูแลลูก และยังเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย และการที่ หลังจากคำตัดสินของศาลอุทธรณ์กรุงโซลในปี 2007 ซึ่งระบุว่าการ บังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ก็ช่วยสนับสนุนให้พวกเธอกล้าที่จะปฏิเสธวัฒนธรรมที่ฝังรากรึกนี้มากขึ้น
‘เฮลีย์ คิม (Hailey Kim) ’ พนักงานหญิงออฟฟิศวัย 40 เผยกลับสื่อต่างประเทศว่า “การลดลงของการรวมกลุ่มรับประทานอาหารและดื่มสุราหลังเลิกงานเกิดจากการที่พนักงานหญิงรุ่นใหม่ที่มีความกล้าแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้นในที่ทำงาน” คนรุ่นใหม่เริ่มมีความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศและภาระในการดูแลเด็ก ทำให้พวกเขาเลือกใช้เวลาในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดื่ม
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนของผู้ประกอบอาชีพอิสระสูงที่สุดในโลก โดยคิดเป็นประมาณ 25% ของตลาดแรงงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่อยู่ที่ 15% อย่างมาก ทำให้ประเทศนี้มีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ฉากบันเทิงยามค่ำคืนที่ค่อย ๆ เงียบเหงาลงและร้านที่ทยอยปิดตัวลงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นคือ "การใช้จ่ายในประเทศที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าผู้คนมีความเป็นอยู่ที่แย่ลง ยอดขายปลีกแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคใช้เงินมากขึ้นกับร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้ออาหารกลับบ้าน และลดการใช้จ่ายในร้านอาหารลง" อีจินกุก (Lee Jin-kook) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันพัฒนาเกาหลีแสดงความเห็น
"บางคนเคยจ่ายค่าอาหารให้โต๊ะอื่น เพียงเพราะพวกเขาเคยเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน แม้ว่าจะไม่รู้จักกันเลยก็ตาม แต่ตอนนี้วัฒนธรรมนั้นหายไปหมดแล้ว ทุกคนแชร์จ่ายกันหมด" จุนกล่าว
ที่มา : reuters