svasdssvasds

มาตรการแก้นี้ของรัฐ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ประชาชนถามกลับ ‘เราสู้ ใครช่วย?'

มาตรการแก้นี้ของรัฐ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ประชาชนถามกลับ ‘เราสู้ ใครช่วย?'

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยบรรเทาหนี้สินของประชาชนรายย่อย แต่ต้องเข้าเงื่อนไขต่างๆ ของทางโครงการ โดยเฉพาะเงื่อนไขว่าต้องมีการผิดนัดชำระ

SHORT CUT

  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 2/67 ราว 16.32 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ 89.6%
  • รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ช่วยเหลือประชาชนที่มีสินเชื่อประเภทต่างๆ ประกอบด้วย 2 มาตรการ
  • ประชาชนกลุ่มที่ยังชำระหนี้ปกติ แต่อาจจะค่อนข้างตึงมือ ตั้งคำถามว่า แล้วคนที่กัดฟันจ่ายเป็นปกติทุกเดือน จะมีมาตรการใดมาช่วยบ้างหรือไม่?

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อช่วยบรรเทาหนี้สินของประชาชนรายย่อย แต่ต้องเข้าเงื่อนไขต่างๆ ของทางโครงการ โดยเฉพาะเงื่อนไขว่าต้องมีการผิดนัดชำระ

วิกฤตหนี้ครัวเรือนไทย

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 2/67 ราว 16.32 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ 89.6%

แม้ภาพรวมเหมือนปริมาณหนี้จะดูชะลอตัวจากการเคร่งครัดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ แต่ทว่า แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบ้านที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท 

สะท้อนให้เห็นว่าการเงินของคนกลุ่มเหล่านี้กำลังอยู่ในสภาะ ‘ตึงตัว’ โดยยอมที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้าน แม้ว่าบ้านจะถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น และถือเป็นที่เป็นสินทรัพย์สุดท้ายที่คนมักจะยอมผิดนัดชำระหนี้

สมาคมธนาคารไทยระบุว่า หนี้ครัวเรือน มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นตัวช้า ทำให้ประชาชนต้องหยิบยืมเงินกู้เหล่านี้มาเสริมสภาพคล่อง, ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่พุ่งสูงต่อเนื่อง และจากพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยการเงินของตัวผู้กู้เอง
 

ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนไทย

สุพริศร์ สุวรรณิก นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สรุปว่า ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะของการให้ผลทางบวกในระยะสั้น แต่กลับส่งผลทางลบในระยะยาว 

การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เอื้อต่อการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง โดยสุพริศร์เลือกใช้คำว่า “ต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดี”

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจ ถือว่าเราอยู่ในจุดที่เสี่ยงและเปราะบางว่าจะมีการเริ่มผิดนัดชำระหนี้ อันอาจนำไปสู่สิ่งที่ผู้ปล่อยกู้กังวลที่สุดคือ ‘หนี้เสีย’ หรือ NPL ซึ่งจะก่อผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังระบบการเงิน

เครดิตบูโรเผย เปิดเผยข้อมูลหนี้เสียคนไทยซึ่งค้างชำระเกิน 90 วัน ในไตรมาส 2/2567 สูงถึง 12.2% มูลค่าราว 1.15 ล้านล้านบาทแล้ว โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการปรับยอดชำระขั้นต่ำ

มาตรการแก้นี้ของรัฐ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ประชาชนถามกลับ ‘เราสู้ ใครช่วย?\'

รัฐบาลออกมาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’

รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ช่วยเหลือประชาชนที่มีสินเชื่อประเภทต่างๆ ประกอบด้วย 2 มาตรการดังนี้

1.จ่ายตรง คงทรัพย์

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด 

ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ โดยต้องชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ

รัฐบาลตั้งเป้าว่ามาตรการ จ่ายตรง คงทรัพย์ จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ ค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง

2.จ่าย ปิด จบ

เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง คือ ไม่เกิน 5,000 บาท โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน 

มาตรการจ่าย ปิด จบ นี้ ต้องการให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุระหว่างการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการว่าเมื่อเราจะก้าวไปข้างหน้า ครัวเรือนและ SMEs มีปัญหาเยอะ จึงต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาให้หนี้ที่มีอยู่เดิมให้นิ่งก่อน ให้หนี้เท่าเดิมภาระการจ่ายลดลง

“อยากเห็นแบงก์พาณิชย์ช่วยดูแล เพราะพวกนี้เป็นลูกค้าท่านให้ยั่งยืนคือต้องให้ลูกค้ากลุ่มพวกนี้รอด 90% ลูกค้าท่าน คือคนในปะเทศ หากคนพวกนี้รอด ท่านก็รอด เราก็รอด 

“อยากแถมอีกประโยคว่าสิ่งที่จะช่วยนี้เราจะไม่ละเว้นวินัยการเงินการคลัง ภาครัฐ จะไม่ละเลยเรื่องนี้ แต่เราไม่อยากสนับสนุนว่าเราช่วยแล้วท่านไม่จ่าย ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองก็ขอให้รักษาหน้าที่ตัวเอง”

คำถามของประชาชน ‘เราสู้ ใครช่วย?’

สมาคมธนาคารไทย คาดว่า ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม กูรูด้านการเงินโพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจของตนเองที่มีผู้ติดตามกว่าล้านคนระบุว่า “ขอมาตรการช่วยคนจ่ายหนี้ดี จ่ายหนี้ตรงเวลาบ้างสิครับท่าน คนสู้ไม่ได้มีแต่คนเป็นหนี้เสียนะฮ้าฟ”

เขาอธิบายว่า “ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้ช่วยคนเป็นหนี้เสียนะครับ แค่จะบอกว่า คนที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ก็กำลังเหนื่อย และกำลังจะไม่ไหว มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ก็คุยไม่ง่ายเลย เจอเจ้าหน้าที่ธนาคารบางคน บอกให้ไปเป็นหนี้เสียก่อนค่อยคุย”

และในเวลาต่อมามีผู้มาร่วมแสดงความเห็นนับพันความเห็นทันที

คำถามที่หลายคนถามในลักษณะคล้ายกับความเห็นของจักรพงษ์คือมาตรการที่รัฐบาลออกมานั้น ครอบคลุมแต่เพียงผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้วเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีสถานะปกติ 

กล่าวคือคนที่ยังอดทนกัดฟันจ่าย ไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้ ก็จะไม่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการนี้ นั่นแปลว่าสิทธิประโยชน์ในการไม่คิดดอกเบี้ยของมาตรการ คนกลุ่มที่มีสถานะทางบัญชีปกติก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ

แต่ก็จะมีความเห็นแย้งในประเด็นนี้ว่า มาตรการของภาครัฐต้องการช่วยเหลือคนที่อาจจะกำลังอยู่ในสภาวะใกล้จมน้ำ หรือขาดอากาศหายใจ ให้พวกเขาสามารถกลับมาหายใจได้ตามปกติอีกครั้ง 

ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุว่าเราต้องยอมรับว่าโครงการลักษณะนี้ทำให้ลูกหนี้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ได้รับประโยชน์ กล่าวคือยกเว้นภาระดอกเบี้ยในช่วง 3 ปี หรือปิดจบหนี้ให้เลยโดยจ่ายเพียงบางส่วน แต่ในขณะที่ลูกหนี้ซึ่งมีวินัยชำระค่างวดตามที่กำหนดได้ตรงเวลา กลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลย 

“การช่วยเหลือลูกหนี้ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวนั้นเป็นสิ่งสมควร แต่ต้องคำนึงถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการรักษาวินัยทางการเงินด้วย เช่น ถ้าจ่ายหนี้ตรงเวลาสม่ำเสมอ จะได้รับรางวัลจูงใจเป็นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากให้เล็กน้อยในช่วงโครงการ 3 ปี หรือการตอบแทนสร้างแรงจูงใจในลักษณะอื่นที่เป็นรูปธรรม ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย"

"การลดความแตกต่างเชิงเปรียบเทียบนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีวินัยทางการเงินดีมาก่อนเกิด Moral Hazard ในอนาคต”

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกมาตรการในลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดสภาวะการเบี้ยวหนี้เพื่อให้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ และจะก่อเกิดปัญหาเพิ่มเติมในอนาคต 

 

อ้างอิง: 

related