SHORT CUT
วันที่ 11 ธันวาคม 2567 เวลา 21.00 น. ตำรวจได้รับแจ้งเหตุมีเสียงอาวุธปืนหลายนัดดังขึ้นในบ้านของนายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.ปราจีนบุรี และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ
พบผู้ถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย คือ นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง บุตรบุญธรรม ของนายสุนทร
ตำรวจ คุมตัว นายสุนทร พร้อมลูกน้อง 7 คน คาดปมเกิดจากปมการลงสมัครชิงตำแหน่ง นายก อบจ.สมัยหน้า ไม่ลงตัว
สรุปเหตุการณ์คดียิง สจ.โต้ง หรือ "ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์" เสียชีวิตในบ้านของสุนทร วิลาวัลย์ นายกฯ อบจ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรม ส่อปมการเมืองท้องถิ่นและปริศนาเงิน 20 ล้านบาทของ อบจ.ปราจีนบุรี
เมื่อกลางดึกของวันที่ 11 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัว นายธนศรัณย์กรณ์ เตชะธนัตถ์โชติ และนายศักดิ์สิทธิ์ ชินวงษ์ กับพวก รวม 7 คน ลูกน้องคนสนิทของ นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกฯ อบจ.ปราจีนบุรี หลังจากมีกรณีที่ นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง บุตรบุญธรรมถูกยิงเสียชีวิตในบ้านพักของนายสุนทร
ใครคือ สจ.โต้ง? เกิดอะไรขึ้นบ้างในคดีนี้? SPRiNG สรุปมาให้อ่านกัน
1. เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 11 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุเสียงอาวุธปืนหลายนัด ในบ้านของ นายสุนทร และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถูก ป.ป.ช.ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต จากคดีบุกรุกที่ดินเขาใหญ่
2. ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สามารถเข้าไปในบ้านหลังดังกล่าว พบ นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง นอนเสียชีวิตอยู่ที่บันไดบ้าน มีแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนสงคราม
ตรวจสอบภายในบ้านพบปืน 2 กระบอกเป็น อาวุธปืนยาวสงคราม และ อาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม. และพบปลอกกระสุนปืน ขนาด 9 มม.ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ จำนวนกว่า 10 นัด
3. ใครคือ สจ.โต้ง? สจ.โต้งเป็นลูกบุญธรรมของสุนทร เขาเป็นอดีต ส.อบจ.ปราจีนบุรีหลายสมัย ก่อนสมัยที่แล้วจะลาออกเพื่อไปทำโปรโมเตอร์มวย แต่ยังคงวนเวียนพบปะชาวบ้านในฐานะกลุ่มผู้ใจบุญ คอยบริจาคข้างของช่วยเหลือชาวบ้าน
- ปี 2555 สจ.โต้งตกเป็นผู้ต้องหาคดีฮั้วประมูลโครงการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยาน
- ปี 2563 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางบังอร วิลาวัลย์ อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี กับพวก 19 ราย คดีฮั้วประมูล 15 โครงการ โดยมีชื่อ สจ.โต้งรวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย
4.นายสุนทร วิลาวัลย์ เป็นนักการเมืองชาวไทย ในปี พ.ศ. 2529 เขาเริ่มเล่นการเมืองครั้งแรกภายใต้สังกัดพรรคชาติไทย ก่อนย้ายไปพรรคราษฎร และกลับมาสังกัดพรรคชาติไทย เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
นายสุนทรได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในปี พ.ศ. 2544 ก่อนที่จะสนับสนุนให้วิลาวัลย์ บุตรสาวลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ.2549
5. มีรายงานว่าก่อนเกิดเหตุ สจ.โต้งมีนัดประชุมที่ชั้น 2 ของบ้าน ในเรื่องการเตรียมลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเขามีปากเสียงกับสุนทร ซึ่งคาดว่าเกี่ยวกับการจัดสรรผู้ลงสมัครตำแหน่งดังกล่าว ก่อนที่ นายธนศรัณย์กรณ์ และ นายศักดิ์สิทธิ์ ลูกน้องคนสนิทของสุนทรจะชักปืนยืง สจ.โต้งเสียชีวิต
6. หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรีได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย นายธนศรัณย์กรณ์ และ นายศักดิ์สิทธิ์ กับพวกรวมทั้งหมด 7 ราย โดยทั้งหมดเป็นลูกน้องคนสนิทของ นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกฯ อบจ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรมของ สจ.โต้งด้วยเช่นกัน
7. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัว นายสุนทร วิลาวัลย์ และญาติอีก 3 ราย เข้ามาแยกสอบปากคำที่โรงพัก โดยเบื้องต้นนั้นได้รับแจ้งว่ามีผู้ต้องหาจำนวนทั้งหมด 7 ราย และเบื้องต้นเรียกมาสอบปากคำก่อนจำนวน 4 ราย
8. ต่อมารายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้เปิดเผยคลิปเสียงการสนทนาระหว่าง สจ.โต้งกับผู้มีอำนาจคนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น และการเรียกร้องเงิน 20 ล้านของ อบจ.ปราจีนบุรี
“เอ่า อยากพูดก็พูดเลย แล้วโทรไปหานายกฯ เขาทุกคน เอางี้โก โกจะลงลงไปเลย (กูบอกว่ากูไม่ลง) แล้วเราตั้งแต่วันนี้จะเหยียบครั้งนี้ครั้งสุดท้ายนะ เพราะโกเป็นคนพูดว่าผมไปเอาเงินอบจ.ตอนไหน (บอกว่ามันติดลบๆ 20 ล้าน เอาเงิน สจ.ไปกี่สิบล้าน)”
“ผมจะบอกโกให้นะ เงิน 20 ล้าน ผมบอกว่าโกอย่ามาเรียกเงิน 20 ล้าน เงิน 20 ล้านนี้ผมให้พ่อ ผมพูดหรือเปล่า ว่าโกไม่ลงเลือกตั้ง (กูไม่อยากเป็นอยู่แล้ว) ผมทำอะไรให้โกบ้าง ผมทำอะไรให้โกมาทั้งชีวิต (กูรู้) ผมติดคุกมาโกไม่เคยช่วยเหลือผมเลย แล้วผมก็ไม่เคยพูดอะไรสักคำ แล้วครั้งนี้ผมมีโอกาสที่จะทำอย่างนี้ผมทำเพื่อใคร แต่โกโทรไปบอกพวกนายกฯทุกคน ไม่เป็นไร โทรไปเลย แข่งได้หมดเลย ทุกคนลงได้หมดเลย โกคิดให้ลึกๆ นะ” สจ.โต้งกล่าว
9. คดีนี้เป็นภาพสะท้อนความรุนแรงและกลุ่มอิทธิพลในการเมืองท้องถิ่นไทยอีกครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เพราะอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในวันที่ 1 ก.พ. พ.ศ.2568 ที่จะถึงนี้
ต้องติดตามดูต่อไปว่าคดีนี้จะจบลงเช่นไร อะไรที่เป็นชนวนความขัดแย้งที่แท้จริง และจะมีผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับโทษหรือไม่