svasdssvasds

เงื่อนไขการจดทะเบียน 'สมรสเท่าเทียม' ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ใช้หลักฐานอะไรบ้าง

เงื่อนไขการจดทะเบียน 'สมรสเท่าเทียม' ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ใช้หลักฐานอะไรบ้าง

เงื่อนไขการจดทะเบียน 'สมรสเท่าเทียม' สิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้

วันที่ 24 กันยายน 2567 จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยว่าเป็นวันแห่งความก้าวหน้าทางสังคมครั้งสำคัญ หลังราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ มีผลบังคับใช้ 22 ม.ค. 2568 ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับชุมชน LGBTQ+ ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป

นอกจากการแก้ไขใจความหลักของการสมรสจากชาย-หญิง เป็น บุคคล เปลี่ยนถ้อยคำที่บ่งชี้เพศอย่างคำว่า สามี-ภริยา เป็น คู่สมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ฉบับแก้ไขใหม่เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม ยังแก้ไขอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และกำหนดรับรองสิทธิของคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ มีสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิของสามี-ภริยา ตามกฎหมายแพ่งเดิม

คุณสมบัติของ 'ผู้จดทะเบียนสมรส' มีอะไรบ้าง

  • บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
  • กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
  • กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรรมไม่ไม่ได้
  • หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น

 

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

  • บัตรประชาชน

 

สถานที่รับจดทะเบียนสมรส

  • สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต
  • สถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง

โดยไม่ดำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สิทธิที่จะได้รับจาก 'สมรสเท่าเทียม' มีอะไรบ้าง

คนไทยสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายไทยได้

ป.พ.พ. ฉบับแก้ไขใหม่บังคับใช้ บุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ โดยการสมรสกับชาวต่างชาติสามารถทำได้ที่ภายในประเทศไทย คือ จดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ

 

แบ่งสินส่วนตัว-สินสมรส จัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย

การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ยังคงหลักการตาม ป.พ.พ. เดิมไว้ โดยหลักการคือ ถ้าคู่สมรสไม่ได้ทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินไว้ก่อนสมรส การจัดการทรัพย์สินจะใช้หลักการตามกฎหมาย โดนแบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็นสองประเภท คือ

  • สินส่วนตัว เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประกอบอาชีพ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา และของหมั้น
  • สินสมรส คือทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ ซึ่งระบุว่ายกให้เป็นสินสมรส และดอกผลของสินส่วนตัว

 

รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ คู่สมรสฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายมีสิทธิได้รับมรดก

 

ในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใด ก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

นอกจากนี้ สถานะความเป็น “คู่สมรส” ยังส่งผลต่อเรื่องสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิตด้วย ป.พ.พ. กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น

 

ฟ้องหย่าได้หากเลี้ยงดูผู้อื่นฉันชู้ ฟ้องค่าทดแทนจากชู้ได้ไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องเพศ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 13/2567 ว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบัญญัติสิทธิในการเรียกค่าทดแทนของสามีและภริยาไว้ต่างกัน ฝั่งสามีสามารถเรียกค่าทดแทนจาก “ผู้ซึ่ง” ล่วงเกินภริยา ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใด ขณะที่ฝั่งภริยา มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจาก “หญิง ที่เข้ามามีสัมพันธ์กับสามีเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่เป็นเพศชายหรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เข้ามามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามี บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยความแตกต่างในเรื่องเพศ ขัดต่อหลักความเสมอภาค ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดผลให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

 

สมรสเท่าเทียม คู่สมรสมีสิทธิ-ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ

 

ในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ ได้กำหนดแก้ไขปัญหาตรงนี้ไว้ด้วยการระบุว่า บรรดากฎหมายอื่นๆ ที่อ้างถึงสามี-ภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ไม่รวมถึงกรณีที่กฎหมายเหล่านั้นกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภริยา ไว้แตกต่างกัน

ดังนั้น หากคู่สมรสใดที่ไปจดทะเบียนสมรสเมื่อป.พ.พ. แก้ไขใหม่ที่รับรองสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะมีสิทธิ หน้าที่ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติถึงสิทธิของ “คู่สมรส” หรือ “สามี-ภริยา” ไว้ 

  • สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 15 กำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิใช้นามสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ หรือจะใช้นามสกุลเดิมของตัวเองได้ นอกจากนี้ คู่สมรสอาจใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อกลางได้ถ้าหากได้รับความยินยอม (มาตรา 6 วรรคท้าย)

  • สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 กำหนดหลักการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งให้ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. ก่อน ซึ่งคู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย (มาตรา 1629 วรรคสอง) นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรคสาม กำหนดว่ากรณีที่ผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมบำบัดรักษา คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ สามารถให้ความยินยอมเป็นหนังสือแทนผู้ป่วยได้

  • สิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 10/1 กำหนดให้บุตร หรือคู่สมรสที่ไม่ได้สมรสใหม่ หรือบิดามารดาของข้าราชการทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ อาจะได้รับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นข้าราชการทหาร พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม

  • สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม

ค่าทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ .2533 มาตรา 73 กำหนดให้ต้องจ่ายเงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ ให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนประโยชน์ทดแทนกรณีตนเองหรือภริยาคลอดบุตร (มาตรา 65) เช่น ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ฯลฯ (มาตรา 66)เงินสงเคราะห์บุตรกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต มาตรา 75 จัตวา กำหนดให้จ่ายต่อสามีภริยาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร

บำนาญชราภาพ กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพหลังอายุครบ 55 ปี หรือหลังสถานะความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด แต่ถ้าจ่ายไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพแทน (มาตรา 77 ทวิ) กรณีที่ผู้ประกันตนตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ บุตร สามี-ภริยา บิดามารดา จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

  • สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

เงินที่ได้รับโดยเสน่หาจากคู่สมรส เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี ไม่ต้องคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 42 (27) ประมวลรัษฎากร)ลดหย่อนภาษีคู่สมรส 60,000 บาท (มาตรา 47 (1)(ข) ประมวลรัษฎากร)

ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดกที่คู่สมรสได้รับจากเจ้ามรดก : พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (2) กำหนดให้กฎหมายนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก เท่ากับว่าหากเป็นมรดกที่ได้รับมาจากคู่สมรสที่เสียชีวิตไป ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดก

ที่มา : iLaw

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related