svasdssvasds

ความจริงในประวัติศาสตร์ของ ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ เป็นยังไงกันแน่?

ความจริงในประวัติศาสตร์ของ ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ เป็นยังไงกันแน่?

ดูซีรีส์ ‘แม่หยัว’ จบแล้วเกิดคำถามมากมาย ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ ในซีรียร์กับในประวัติศาสตร์ทำไมไม่เหมือนกัน?

จบไปอย่างสวยงามสำหรับซีรีส์ฟอร์มยักษ์จาก OneD ORIGINAL อย่างเรื่อง “แม่หยัว” The Empress of Ayodhaya เชื่อว่าใครหลายๆ คนที่ได้ดูจนจบครบ 10 ตอนแล้ว คงเกิดคำถามขึ้นในหัวมากมาย เพราะในเนื้อเรื่องค่อนข้างที่จะแตกต่างจากในภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัยพอสมควร

เพราะทั้งสองเรื่องที่เอ่ยมานั้นเป็นเพียง ละครอิงประวัติศาสตร์ นั่นหมายถึงว่าผู้กำกับได้มีการหยิบยกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นำเอามาตีความใหม่ตามความเข้าใจของตน และดัดแปลงเสริมแต่งเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นั้นไม่มีใครรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง 100% เราสามารถรับรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้จากบันทึกเหตุการณ์ที่คนในสมัยก่อนบันทึกไว้ ซึ่งนั่นก็มีหลายฉบับหลายข้อมูลแล้วแต่ว่าใครเป็นคนบันทึก

OneD ORIGINAL
ท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระไชยราชาธิราชจริงหรือไม่

เนื้อเรื่องในซีรีส์แม่หยัว ผู้ที่ลอบลงพระชนม์สมเด็จพระไชยราชาธิราช คือพันบุตรศรีเทพ หรือขุนวรวงศ์ศาธิราช ส่วนในเนื้อหาจากภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ผู้ที่วางยาสมเด็จพระไชยราชาธิราชคือท้าวศรีสุดาจันทร์ หากอ้างอิงตามประวัติศาสตร์นั้นมีผู้ที่เขียนไว้หลายฉบับ ข้อมูลแรกมาจาก

บันทึกของ เฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต หรือ นายปินโต พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในอยุธยาสมัยนั้นได้บันทึกเอาไว้ว่า แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ลักลอบมีความสัมพันธ์กับขุนวรวง พราหมณ์ผู้คุมหอพระ ได้ลอบปลงพระชนม์พระสวามีด้วยยาพิษในน้ำนม

“พระนางถวายน้ำนมให้พระเจ้าแผ่นดินเสวย ซึ่งแสดงฤทธิ์ยาได้ผล เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จสวรรคตภายใน 5 วันหลังจากเสวยน้ำนมแล้ว”

บันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือที่คนไทยเรียก วัน วลิต พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ที่มาทำการค้าในกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชสิ้นพระชนม์เนื่องจากสาเหตุตามธรรมชาติขณะยกทัพกลับจากสงครามเชียงใหม่- ลำพูน

แต่ทว่าเอกสารทั้ง 2 ชิ้นนี้เป็นเพียงหลักฐานที่ฟังจากคนอื่นมาอีกทอดหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในยุคสมัยเดียวกันแต่ก็เป็นคนต่างชาติ และยังอยู่ห่างไกลจากราชสำนักมาก

 

หลักฐานจากประวัติศาสตร์ไทย

พระราชพงศาวดารฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ได้ระบุไว้ว่าหลังจากที่สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้วจึงเสด็จยกทัพหลวงกลับมายังกรุงศรีอยุธยาและสวรรคตระหว่างทาง

พระราชทานพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าเดือน 4 ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเชียงใหม่มายังพระนครศรีอยุธยา และเดือน 6  สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าพระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัติ พระนครศรีอยุธยาในปีนั้นแผ่นดินไหว  

เอกสารฉบับนี้ถือเป็นเอกสารที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างมากเพราะตรวจสอบมาแล้วทุกด้าน

OneD ORIGINAL

ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นชู้รักกับขุนวรวงศาธิราชจริงไหม

เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัยทั้งสองคนได้พบเจอกันครั้งแรกในวัง เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชยังมีชีวิตอยู่ แต่ในซีรีส์เรื่องแม่หยัว ทั้งสองนั้นเป็นคนรักกันมานานแล้ว 

บันทึกของ เฟอร์ดินันท์ เมนเดซ ปินโต ระบุว่าในช่วงที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบคบชู้กับขขุนวรวงษาธิราช ซึ่งตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นคนส่งอาหาร จนตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน เมื่อพระชัยราชากลับมานางกลัวว่าพระสวามีจะรู้ว่าตนคบชู้จึงนำยาพิษใส่เข้าไปในน้ำนมให้เสวย และเสียชีวิตภายในเวลา 5 วัน

บันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตตามปกติขณะไปตีเมืองลำพูนและกำลังกลับมาที่พระนครศรีอยุธยา

บันทึกฝั่งไทย ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าหลังจากพระชัยราชาธิราชสวรรคตแล้ว พระยอดฟ้าขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ส่วนท้าวศรีสุดาจันทร์คอยว่าราชการภายในราชสำนัก หลังจากนั้นท้าวศรีสุดาจันทร์เริ่มลักลอบคบหากับขุนวรวงสาธิราช 

OneD ORIGINAL

การสวรรคตของสมเด็จพระยอดฟ้า

ในซีรีส์เรื่องแม่หยัว สมเด็จพระยอดฟ้าโดนงูฉกจนสวรรคตแต่พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้บันทึกไว้ว่า ขุนวรวงศาธิราช เจ้าแผ่นดินร่วมกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์นำพระยอดฟ้าไปประหารชีวิต ณ วัดโคกพระยา

สุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์นั้นมีหลายหน้า หลายเล่ม หลายฉบับ หลายคนเขียน และหลายประเทศ แน่นอนว่าผู้คนในยุคปัจจุบันไม่มีใครเกิดทัน ข้อมูลต่างๆ นั้นได้มาจากการฟัง และจดบันทึกต่อกันมา  จึงไม่มีใครรู้เรื่องราวที่แท้จริงแบบ 100% อยู่ที่ว่าผู้คนจะเชื่อเอกสารฉบับไหนมากกว่ากัน