เปิดประวัติ "ท้าวศรีสุดาจันทร์" ตำนานแม่อยู่หัวแห่งอโยธยา หลังซีรีส์ "แม่หยัว" นำเรื่องราวมาสร้างใหม่ นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือ "ใหม่ ดาวิกา"
แรงบันดาลใจจาก "แม่อยู่หัว" องค์เดียวแห่งอโยธยา สู่หน้าที่อันยิ่งใหญ่ ที่เดิมพันด้วยอำนาจและหัวใจ...นี่คือซีรีส์พีเรียดฟอร์มยักษ์ที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ สำหรับ "แม่หยัว" หรือ "The Empress of Ayodhaya" ทางช่อง ONE31 ที่ได้นางเอกซูเปอร์สตาร์ "ใหม่ ดาวิกา" มาถ่ายทอดตำนานท่าพับเป็ด รับบท "ท้าวศรีสุดาจันทร์" แม่อยู่หัวแห่งอโยธยา
โดยทันทีที่ซีรีส์เรื่องนี้ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ผู้ชมต่างให้ความสนใจ เพราะ แม่หยัว สร้างจากเรื่องราวที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย ได้แรงบันดาลใจจาก ท้าวศรีสุดาจันทร์ สตรีผู้มีบทบาทสูงสุดทางการเมืองและเป็นหนึ่งในสตรีที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดแห่งกรุงศรีอยุธยา
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้บันทึกสตรีที่มีบทบาทสูงสุดทางการเมืองไว้เพียงนางเดียว คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ หรือ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แต่ชื่อเสียงของเธอกลับถูกกล่าวถึงในด้านเกมกามอันฉาวโฉ่ ควบคู่ไปกับการครองอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาด จนสามารถยกชายชู้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ได้
ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ท้าวศรีสุดาจันทร์ สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง เป็นสนมฝ่ายซ้ายที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามของ สมเด็จพระไชยราชา กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๒ ของกรุงศรีอยุธยา มีโอรสกับพระไชยราชาองค์หนึ่งนามว่า พระศรีศิลป์ และได้รับมอบหมายให้ดูแล พระยอดฟ้า พระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระสนมฝ่ายขวาผู้ล่วงลับ
ความฉาวโฉ่ในประวัติศาสตร์ของ ท้าวศรีสุดาจันทร์ มีการระบุว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ ลักลอบสมัครสังวาส (คบชู้) กับ พันบุตรศรีเทพ (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น ขุนวรวงศาธิราช) เป็นประจำจนตั้งครรภ์ เมื่อ พระไชยราชา สวรรคต (กล่าวกันว่าพระองค์ถูกวางยาพิษ) พระยอดฟ้า วัย ๑๑ พรรษา ถูกยกขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยมี พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ของพระไชยราชา เป็นผู้ว่าราชการแทนพระองค์ แต่สุดท้าย พระเฑียรราชา ขอลาจากราชการไปผนวช เอาผ้ากาสาวพัสตร์คุ้มตัว
เมื่ออำนาจกลับมาอยู่ในมือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงแต่งตั้งให้ ขุนชินราช ได้ราชสมบัติและเลื่อนยศเป็น ขุนวรวงศาธิราช ให้ขุนวรวงศาธิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นเจ้าพิภพครองกรุงศรีอยุธยา สร้างความไม่พอใจให้กับขุนนาง จนเป็นที่เกลียดชังไปทั่ว
โดยขุนนางกลุ่มหนึ่ง (ขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ และ หมื่นราชเสน่หา) คบคิดสังหารเจ้าแม่อยู่หัวและชู้รัก ประจวบกับทางเมืองลพบุรีแจ้งว่าพบช้างต้องลักษณะเป็นช้างเผือก ขุนวรวงศาจึงจะไปจับ โดยขุนวรวงศากับเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และราชบุตรซึ่งเกิดด้วยกันได้เสด็จไปทางเรือ และถูกกลุ่มขุนนางรุมสังหาร แล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง ส่วน พระศรีศิลป์ นำตัวไปถวายพระเฑียรราชารับเลี้ยงไว้
สำหรับ ขุนวรวงศาธิราช ผ่านพิธีราชาภิเษกมาอย่างถูกต้องตามประเพณี และครองราชย์อยู่ได้ ๔๒ วัน แต่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ยอมรับเป็นกษัตริย์ ไม่ปรากฏชื่อในรายพระนามกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
ข้อมูลจาก โรม บุนนาค จากเว็บไซต์ pasasiam
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับ "ท่าถวายตัว" หรือ "ท่าพับเป็ด" อ้างอิงจาก "พิทยา บุนนาค", "เผ่าทอง ทองเจือ", "นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ" มีการระบุข้อมูลว่า
"การถวายตัว" ถือเป็นธรรมเนียมโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา คือการนำลูกสาวหรือหลานสาว ทูลเกล้าถวายตัวให้เป็น "บาทบริจาริกา" ของกษัตริย์ เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของสมาชิกในตระกูล จึงทำให้พระราชสำนักฝ่ายในคับคั่งไปด้วยสุภาพสตรีที่คอยปรนนิบัติรับใช้กษัตริย์
การถวายตัวเป็นมเหสีของกษัตริย์ พระแท่นบรรทมจะอยู่ใต้เศวตฉัตร เจ้าจอม หรือผู้หญิงจากการถวายตัว จะขึ้นไปนอนบนพระแท่นบรรทมไม่ได้ จะมีพระแท่นรองเวลาถวายงาน เท้าเจ้าจอมจะชี้ไปที่พระแท่นไม่ได้ จึงมีท่ากามสูตรที่จะเก็บเท้าไม่ให้ชี้ ผู้หญิงที่จะถวายตัวต้องฝึกท่าที่คล้ายคลึงกับท่าโยคะบางท่าตั้งแต่อายุยังน้อย
บรรดาหญิงสาวต้องผ่านการล้างและอบร่ำอวัยวะเพศอย่างพิถีพิถัน โดยต้องอาบน้ำ ทาขมิ้น พรมน้ำอบแต่งตัวสวยงาม หลังจากนั้นต้องนั่งบนกระโถนสักพักใหญ่ ซึ่งในกระโถนนั้น จะมีของหอมกลิ่นแรงใส่ไว้ เพื่อรมให้อวัยวะสืบพันธุ์และช่องคลอดหอม โบราณเรียกการเตรียมตัวนี้ว่า "อบเต่า"
สำหรับท่าพนมมือนอนหงายในท่า "พับเป็ด" เป็นท่าแรกที่ถูกกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยอยุธยาและเป็นท่าแรกที่บังคับตามจารีตประเพณี โดยท่าดังกล่าวจะบังคับไม่ให้เท้าของหญิงที่กษัตริย์กำลังทรงร่วมเพศด้วย ไปสัมผัสพระวรกายของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนท่าร่วมเพศอื่นๆ จะขึ้นอยู่กับพระราชนิยมส่วนพระองค์
ข้อมูล พิทยา บุนนาค, เผ่าทอง ทองเจือ, นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ, facebook ให้กาลเวลาเล่าเรื่องสยามแต่ปางก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง