svasdssvasds

ตะลึง! เปิดตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกพุ่ง 800 ล้านคน เกินครึ่งไม่ได้รักษา

ตะลึง! เปิดตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกพุ่ง 800 ล้านคน เกินครึ่งไม่ได้รักษา

เปิดสถิติผู้ป่วยเบาหวานะทั่วโลกล่าสุด คาดมีมากถึง 800 ล้านคน มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 30 ปี ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา

SHORT CUT

  • "โรคเบาหวาน" เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของทั่วโลกและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากการดำเนินชีวิตและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
  • ผู้ใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าจากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้
  • ประเทศไทยพบว่า 1 ใน 10 คน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 6.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และร้อยละ 40 ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย

 

เปิดสถิติผู้ป่วยเบาหวานะทั่วโลกล่าสุด คาดมีมากถึง 800 ล้านคน มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 30 ปี ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเดอะแลนเซต (The Lancet) พบว่า ผู้ใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าจากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้ และมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 30 ปีนั้นไม่ได้เข้ารับการรักษา

โดยรายงานระบุว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเบาหวานอายุ 18 ปีขึ้นไปประมาณ 828 ล้านคน ซึ่งรวมผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ทั่วโลก โดยในกลุ่มป่วยที่มีอายุมากกว่า 30 ปีราว 445 ล้านคน หรือประมาณ 59% นั้นไม่ได้รับการรักษา 

หากคำนวณตามการเพิ่มขึ้นของประชากรในปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคน เทียบกับไม่ถึง 200 ล้านคน เมื่อปี 2533

องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประมาณการณ์ก่อนหน้านี้ว่า มีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 422 ล้านคน โดยโรคเบาหวานนั้นเป็นภาวะเรื้อรังเกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิซึม ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด เส้นประสาท และอวัยวะอื่น ๆ

ผลการศึกษาพบว่า อัตราผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเพิ่มจากราว 7% เป็น 14% โดยสาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

การศึกษาดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของ NCD Risk Factor Collaboration และ WHO ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ระดับโลกครั้งแรกที่รวบรวมข้อมูลทั้งอัตราการเกิดโรคและการรักษาครอบคลุมทุกประเทศ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยมากกว่า 1,000 ฉบับที่ครอบคลุมผู้คนจำนวนมากกว่า 140 ล้านคน

 

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคเบาหวาน เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของทั่วโลกและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากการดำเนินชีวิตและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

สำหรับประเทศไทยพบว่า 1 ใน 10 คน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 6.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และร้อยละ 40 ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย จะเห็นได้ว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีใจความส่วนหนึ่งในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เน้นย้ำให้ใช้เครือข่ายสาธารณสุขในการมีส่วนร่วมป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายในการส่งเสริมให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้คนไทยนับ  Carb ในการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคลในแต่ละวันเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อโดยขับเคลื่อนผ่านกลไกอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.)

 

ทั้งนี้ สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลกและในปี พ.ศ. 2567 นี้ ได้กำหนดประเด็นสารคือ Diabetes and Well-Being: สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน

มุ่งเน้นให้ผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขโดยการจัดการสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม แม้จะต้องอยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมเพราะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดูแลตนเองเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม และจัดการกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวานขึ้นตา (จอตาเสื่อม) เกิดแผลเบาหวานที่เท้า จากการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกและการไหลเวียนโลหิตส่วนปลาย เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า

คำแนะนำการป้องกันการกลับมาของโรคเบาหวาน

ประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเกณฑ์ปกติของระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรก และรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related