ไขข้อสงสัย "วางยาสลบสัตว์" มีผลข้างเคียงอย่างไร สัตวแพทย์ ชี้มีความเสี่ยงต่อชีวิตสัตว์ ตั้งข้อสงสัยเพราะเหตุใดกองถ่ายทำไมถึงเลือกวิธีนี้
จากกรณีที่โลกโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในละครฟอร์มยักษ์อิงประวัติศาสตร์ "แม่หยัว" ทั้งในแง่มุมที่กล่าวชื่นชม แต่อีกมุมก็มีการท้วงติง พร้อมตั้งข้อสงสัย จนช่วงหลังๆ ประเด็นดราม่าเริ่มเกิดขึ้น ล่าสุดในฉากหนึ่งของละครที่ปรากฏภาพพระสนมตันหยง หรือ "เฟิร์น นพจิรา" พิสูจน์ชาว่า มียาพิษหรือเปล่า ด้วยการเทชาลงในถาดให้แมวลองดื่ม ซึ่งในซีนดังกล่าว ปรากฏภาพขณะแมวกำลังดื่มชาจริงๆ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีอาการกระตุก และขย้อนๆบางอย่างออกมาจริงๆ ซึ่งชาวเน็ตมองว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์
ต่อมาผู้ใช้บัญชี X ชื่อว่า Mollyone ซึ่งเป็นหนึ่งในนักแสดงตัวประกอบของเรื่อง ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงว่า
"น้องแมวไม่ได้ตุย เราวางยาสลบแมว แต่ตอนถ่ายทำน้องขย้อน กระตุกๆ คือนึกว่าตายจริง ป้าจ๋า น้องเฟิร์น หน้าถอดสี ตกใจจริง"
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ใช้แชร์ข้อความของสัตวแพทย์รายหนึ่ง ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวผ่าน X ระบุถึงอันตรายและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น สำหรับการวางยาสลบสัตว์ระบุว่า การวางยาสลบทุกครั้งถือว่ามีความเสี่ยงต่อชีวิตสัตว์ เพราะยาจะกดการทำงานของระบบหายใจ และไหลเวียนเลือด นอกจากนี้อาจสำลักได้ เพราะสัตว์ควบคุมการอาเจียนไม่ได้ รวมถึงยาซึมเหนี่ยวนำให้อ้วก ดังนั้นก่อนวางยาจึงควรตรวจร่างกาย อดอาหาร 4-6 ชม. และมีการติดตามสัญญาณชีพ
ระหว่างการวางยา ต้องมีการสอดท่อช่วยหายใจ แทงเส้นน้ำเกลือเพื่อคงความดันเลือดและเผื่อในกรณีฉุกเฉินเช่นหัวใจหยุดเต้นขณะวางยา มอนิเตอร์การหายใจ การเต้นของหัวใจ รวมถึงอุณหภูมิขณะวางยา เพราะขณะสลบสัตว์จะควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ได้
ซึ่งในปัจจุบัน ปี 2024 จะ 2025 แล้ว ในฐานะคนเสพ หนังเราเห็นทางเลือกอื่นๆที่ humane ต่อสัตว์ในกองถ่ายมากมายไม่ว่าจะเป็นการใช้พรอพ การใช้ CG! หรือแม้แต่การฝึกสัตว์ด้วยเทคนิค positive reinforcement ไม่ต้องใช้วิธีที่ทารุณและเสี่ยงตายแบบนี้
เลยอยากรู้ว่า ในกองถ่ายทำไมถึงเลือกวิธีนี้ มีวิสัญญีสัตวแพทย์ดูแลตั้งแต่ก่อนวางยา ระหว่างสลบ จนถึงเฝ้าฟื้นหรือไม่ได้ตรวจเลือดตรวจร่างกายและอดอาหารอย่างเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ ขออัญเชิญสัตวแพทยสภาลงด่วน
ขณะที่ข้อมูลจาก kindredcarepet ระบุว่า ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดของการวางยาสลบในสุนัขหรือสัตว์ คือบริเวณที่ฉีดยาจะบวม โดยปกติอาการบวมนี้จะหายไปภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากทำหัตถการเสร็จสิ้น ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบหัวใจและหลอดเลือดถูกกดทับ ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีสัตวแพทย์ติดตามชีพจรของสัตว์เลี้ยงของคุณอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง