ไขข้อสงสัย “ทนายตั้ม” ถูกออกหมายจับ โดนกองปราบจับกุมฝากขังนอนเรือนจำ ยังคงเป็น "ทนายความ" หรือไม่ ส่วนลูกความถ้าไม่สบายใจต้องทำยังไง
หลังจากที่ตำรวจกองปราบได้จับกุมนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม พร้อมนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาของษิทรา ตามหมายจับข้อหาฉ้อโกง , ฟอกเงิน และ ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบฟอกเงิน จากกรณีหลอกลวงเงิน จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย
นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยกรณี ทนายตั้ม ซึ่งเป็นทนายความ ที่ถูกออกหมายจับในข้อหา ฉ้อโกง ฟอกเงิน และถูกจับกุม ยังเป็นทนายความไหม รวมทั้งอาจทำให้ลูกความที่ว่าจ้าง ทนายตั้มว่าความ หรือสำนักงานกฎหมายของทนายษิทรานั้นมีความกังวลว่า หากพนักงานสอบสวนได้นำตัวส่งศาล เพื่อฝากขัง ต้องดูว่าทางศาลจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ หากทนายตั้มได้ประกันตัว เขาก็สามารถออกมาดูแลลูกความได้ตามปกติ
แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว ทนายตั้มจะต้องถูกส่งตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดังนั้นถ้าเกิดว่ามีนัดกับศาลในคดีของลูกความ เรื่องนี้ทางเสมียนของทนายตั้ม จะต้องส่งคำร้องต่อศาล ขอเลื่อนนัดพิจารณาในคดีความนั้นๆ
แต่หากลูกความรู้สึกไม่สบายใจ ที่จะจ้างวานทนายคนดังกล่าวต่อ ก็ต้องไปลองคุยเจรจาขอเลิกจ้าง และข้อตกลงกับทางสำนักงานฯ หรือเจ้าตัว เพื่อหาทนายใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างตัวทนายและลูกความ ในการชำระค่าจ้างทนายความ ซึ่งตนเองหรือแม้แต่สภาทนายความฯ ก็ไม่อาจก้าวล่วงได้
ส่วนการพิจารณาคดีมรรยาททนายความนั้น ต้องแจงว่า ทางสภาทนายฯ จะดูเป็นคดีๆไป ถ้าทนายความผู้ใดโดนคดีหรือถูกออกหมายจับ แต่ถ้าข้อหาเป็นคนละส่วนกับที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนต่อสภาทนายฯเรื่องมรรยาททนายความนั้น ก็จะไม่ส่งผลอะไรต่อการพิจารณา
โดยทั่วไปแล้วในคดีที่ศาลออกหมายจับและศาลยังไม่ได้พิจารณาคนนั้นๆกระทำผิด เพียงแต่ศาลเชื่อเหตุแห่งการออกหมายจับ ที่ตำรวจระบุมาเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ถูกออกหมายจับยังไม่ใช่ผู้กระทำผิด เพราะศาลยังไม่ได้พิจารณาคดีจนถึงที่สุด อย่าลืมว่าคนที่ถูกออกหมายจับ เมื่อถึงชั้นพิจารณาตัดสินคดีแล้วก็มีการยกฟ้องได้
ดังนั้นการถูกออกหมายจับหรือมีคดี จึงไม่มีผลกับการพิจารณา เรื่องมรรยาททนายความ ซึ่งต่างจาก ทนายความที่ถูกศาลตัดสินจนคดีถึงที่สุด ว่า ทนายคนนั้นทำผิดจริง แล้วมีการลงโทษจำคุก
ยกตัวอย่าง มีทนายความได้ละเมิดอำนาจ และศาลได้พิเคราะห์ พฤติกรรมพยานหลักฐานแล้วพิพากษาว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจริงมีโทษจำคุก ซึ่งหากจำเลยมีอาชีพทนายความ ศาลจะมีการส่งรายงานมาที่สภาทนายความฯ และขั้นตอนต่อไปทางสภาทนายความฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมา พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่า การกระทำของทนายความคนนั้น เข้าข่ายความผิดข้อบังคับมรรยาททนายความหรือไม่ ข้อใด และควรจะถูกลงโทษอย่างไร โดยการลงโทษเบาสุดคือการภาคทัณฑ์ ตักเตือน ต่อมาคือการพักใบอนุญาตไม่เกินสามปี และขั้นร้ายแรงที่สุด คือการลบชื่อออกจากทนายความ
ที่มา : komchadluek
ข่าวที่เกี่ยวข้อง