ท่ามหลาง 7 รัฐ swing state สื่อหลายสำนักต่างคาดการณ์กันว่า 'เพนซิลเวเนีย' จะเป็นรัฐสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดระหว่าง กมลา แฮร์ริส กับโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะตามประวัติศาสตร์ ใครชนะรัฐนี้ 10 ใน 12 การเลือกตั้งหลังสุด จะขึ้นสู่ตำแหน่ง 'ประธานาธิบดีสหรัฐฯ'
เมื่อถึงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทุก 4 ปี เรามักจะได้ยินคำว่า แม้สหรัฐฯ จะมี 50 รัฐ แต่รัฐที่จะเป็นจุดชี้ขาดผลการเลือกตั้งจริงๆ ก็คือเหล่ารัฐ swing state หรือ battleground state ที่หมายถึงรัฐที่ผลการเลือกตั้งสามารถพลิกไปมา ไม่เป็น ‘รัฐสีน้ำเงิน’ ซึ่งหมายถึงมีฐานแฟนคลับพรรคเดโมแครต หรือ ‘รัฐสีแดง’ ที่มีฐานแฟนคลับพรรครีพับลิกัน อย่างเหนียวแน่น
ก่อนอื่นเลย เราขอปูข้อมูลพื้นฐานกันก่อน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่การลงคะแนนเลือกตั้งตรง แต่เป็นการเลือกคณะผู้แทน (electoral college) จากแต่ละรัฐให้เข้าไปเลือกผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ ให้ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกที
การเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 จำนวนคณะผู้แทนมีรวมกัน 538 คน ดังนั้น ไม่ว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ จากเดโมแครต หรือ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จากรีพับลิกัน
ใครได้เสียงจากคณะผู้แทนขั้นต่ำ 270 คน ก็จะคว้าชัยชนะทันที
ในการเลือกตั้งรอบนี้ กมลามีเสียงจากรัฐสีน้ำเงินอยู่ 226 เสียง ส่วนทรัมป์มีเสียงจากรัฐสีแดงอยู่ 219 เสียง ในขณะที่ ‘รัฐ swing state’ มีอยู่ทั้งหมด 7 รัฐ มีเสียงรวมกัน 93 เสียง
ข้อมูลจากสื่อสหรัฐฯ แยกรัฐ swing state ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มรัฐ Sun Belt หรือแถบดวงอาทิตย์ หมายถึงรัฐที่อยู่ทางใต้ซึ่งมีสภาพอากาศอบอุ่น 4 รัฐ ได้แก่ เนวาดา(มีคะแนนโหวต 6 เสียง), แอริโซนา(11 เสียง), นอร์ธแคโรไลนา(16 เสียง) และจอร์เจีย(16 เสียง) และกลุ่มรัฐ Rust Belt หรือแถบสนิม คือรัฐซึ่งอยู่ในพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรม มีชนชั้นแรงงานจำนวนมาก ได้แก่ มิชิแกน(15 เสียง), วิสคอนซิน(10 เสียง) และเพนซิลวาเนีย(19 เสียง)
สำหรับ 4 รัฐ Sun Belt ผลการสำรวจความนิยมทรัมป์นำแฮร์ริสอยู่เล็กน้อย แต่ต่อให้กวาดเสียงมาได้ทั้งหมด (รวม 49 เสียง) ก็ยังไม่ถึง 270 เสียง ยังต้องการชัยชนะในรัฐ Rush Belt (รวม 44 เสียง) โดยมิชิแกนและวิสคอนซิน แฮร์ริสมีภาษีดีกว่า
ทำให้รัฐซึ่งถูกจับตาที่สุดคือเพนซิลเวเนีย ซึ่งผลการสำรวจความนิยมพบว่า มีคะแนนใกล้เคียงกันมาก ๆ โดยข้อมูลจากทีมงานโปรเจ็กต์ 538 (จำนวนเสียงโหวตทั้งหมดในการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ระบุว่า ผลการสำรวจความนิยมช่วง 1 วันก่อนเลือกตั้ง แฮร์ริสนำทรัมป์อยู่ 0.1%
ผู้สมัครทั้ง 2 คนก็ต่างเห็นความสำคัญของรัฐนี้ จึงทุ่มลงพื้นที่หาเสียงกว่า 50 ครั้ง
จากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 12 ครั้งหลังสุด มีถึง 10 ครั้งที่ผู้ชนะในรัฐเพนซิลเวเนียได้เป็นประธานาธิบดี
นี่จึงเป็นหนึ่งในรัฐสมรภูมิที่เข้มข้นที่สุด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รอบนี้