ทำความรู้จัก "หลวงพ่อปาน" พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ด้านความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารเครื่องรางของขลังมาตั้งแต่ในสมัย ร. 5 ประเพณีเก่าแก่แห่องค์ "หลวงพ่อปาน" เปิดตำนานความเชื่อและความศรัทธา
งานประจำปี ปิดทองหลวงพ่อปาน ปีที่ 114 และร่วมแห่หลวงพ่อปาน ทางเรือ ณ วัดมงคลโคธาวาส ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยภายหลังนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร ลั่นฆ้องเปิดงาน ทางคณะกรรมการวัดได้อันเชิญรูปหล่อหลวงพ่อปาน จากวัดมงคลโคธาวาส ลงเรือแห่ไปตามลำคลองคลองด่านออกไปทางปากอ่าว
โดยมีเรือประมงของชาวบ้านจำนวนมาก เข้าร่วมขบวนแห่ออกไปที่ปากอ่าว จากนั้นได้แล่นเรือวนปากอ่าว 3 รอบ ก่อนที่จะมีการแจกธงหลวงพ่อปาน ที่ชาวบ้านเคารพนับถือให้แก่เรือประมงของชาวบ้าน และผู้ที่เดินทางไปร่วมงานที่บริเวณกลางทะเลเป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนกลับเข้าฝั่ง และในเวลา 09.09 น.ได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อปานขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบก แห่ไปทั่วจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้ชาวบ้านได้นมัสการ และขอพร โดยมีชาวบ้านทั้งในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียงได้สักการะบูชาหลวงพ่อปาน
หลวงพ่อปานเป็นชาวบางบ่อ ท่านเกิดที่ คลองนางโหง ต.บางเหี้ย (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) จ.สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. 2368 ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อ ปิ่น บิดามีเชื้อจีน ชื่อ "ปลื้ม"มารดาเป็นคนไทย เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ชื่อ ตาล อาชีพทำป่าจาก ครอบครัวของท่านอยู่ที่หมู่บ้านโคกเศรษฐี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ ลูกหลานของหลวงพ่อปาน ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า "หนูเทพย์"
เมื่อตอนเป็นเด็ก บิดามารดาได้นำไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) เพื่อให้เรียนหนังสือไทย ต่อมาไม่นานเจ้าคุณได้ให้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้
เมื่อยังเยาว์ ท่านได้ใช้ชีวิตแบบชาวชนบทคนธรรมดา ครั้นเมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่ม เริ่มมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในเพศตรงข้ามตามวิสัยปุถุชน วันหนึ่งท่านได้ดั้นด้นไปบ้านสาวคนรัก แต่พอล้างเท้าก้าวขึ้นบันได เกิดอัศจรรย์ขึ้นบันไดไม้ตะเคียนอันแข็งแรงพลันหลุดออกจากกัน ทำให้ท่านพลัดตกจากบันได ท่านจึงคิดได้ว่าเป็นลางสังหรณ์บอกถึงการสิ้นวาสนาในทางโลกเสียแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านจึงครุ่นคิดตัดสินใจอยู่หลายวัน ผลที่สุดจึงตัดสินใจออกบวช
เมื่ออายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามนั่นเอง โดยมีท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงไสยศาสตร์ ท่านได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ ภายหลังได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางเหี้ยนอก ปัจจุบัน เรียกว่าวัดมงคลโคธาวาส โดยมีพระที่เป็นสหายสนิทตามมาด้วยองค์หนึ่งชื่อ หลวงพ่อเรือน หลังออกพรรษาท่านและพระเรือนเริ่มออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ
หลวงพ่อปานและหลวงพ่อเรือนได้ดั้นด้นไปจนถึง "วัดอ่างศิลา" อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และได้ฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของ"หลวงพ่อแตง" เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา โดยศึกษาด้านวิปัสนาธุระ ไสยเวทย์มนต์ต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงให้หลวงพ่อปานเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อปาน เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัด กิจของสงฆ์หลวงพ่อปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่งคือนำ พระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุก ๆ เช้า นอกจากเจ็บป่วยไป ไม่แล้วท่านปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่ง คือนำพระสงฆ์สวดมนต์เช้าเย็นที่หอสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน และสวดมนต์เป็นคัมภีร์หรือผูกเป็นเล่มเป็นวัน ๆ ไป กระทั่งสวดปาฏิโมกข์ เหตุดังนี้ในสมัยนั้น พระลูกวัดของท่านจึงสวดมนต์เก่งมาก
ด้านสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อเป็นผู้นำในการสร้างถนนจากคลองด่านไปบางเพรียง ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสไปวัดสว่างอารมณ์ ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสจรดคลองนางหงษ์ ถนนแต่ละสายปัจจุบันได้พัฒนาเป็นถนนถาวรและใช้สัญจร ไปมาจนถึงทุกวันนี้
ด้านความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องรางของขลัง ของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากและสืบ เสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามากและ ธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อที่ได้ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึก ถึงหลวงพ่ออย่างไม่ เสื่อมคลาย
ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ
ด้านสมณศักดิ์ หลวงพ่อปาน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ"
ท่านมรณภาพเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2453 เวลา 4 ทุ่ม 45 นาที พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2454
ประเพณีแห่องค์หลวงพ่อปานไปปากอ่าวไทยนั้น จัดขึ้นตรงกันวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี โดยปีนี้ ตรงกับวันที่ 4 พ.ย. 2567 เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานกว่า 100 ปี เนื่องจากชาวบ้านใน จ.สมุทรปราการ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงโดยเฉพาะในพื้นที่ ต.คลองด่าน ซึ่งในสมัยก่อนล้วนแต่ประกอบอาชีพประมงเกือบทั้งสิ้น
ก่อนที่ชาวบ้านจะออกเรือหาปลาก็จะเดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อปาน เพื่อขอพรให้หาจับปลาได้มากๆ ซึ่งก็มักสมปราถนา ทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกิน เหตุนี้จึงถือเป็นสิ่งมงคลดีงามที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน
ที่มา : โรงเรียนหลวงพ่อปานคลองด่านอนุสรณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง