svasdssvasds

ทำความรู้จัก "ภูพระบาท" มรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของไทย จ.อุดรธานี

ทำความรู้จัก "ภูพระบาท" มรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของไทย จ.อุดรธานี

พาไปทำความรู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" โดย จ.อุดรธานีได้แหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 หลัง "ยูเนสโก" ประกาศขึ้นทะเบียน "ภูพระบาท" เป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" นับเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย

SHORT CUT

  • ทำความรู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" หลัง "ยูเนสโก" ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม"
  • นับเป็น "แหล่งมรดกโลก" ลำดับที่ 8 และ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของประเทศไทย 
  • ถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535

พาไปทำความรู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" โดย จ.อุดรธานีได้แหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 หลัง "ยูเนสโก" ประกาศขึ้นทะเบียน "ภูพระบาท" เป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" นับเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย

นาทีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.01 น. ของวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เมื่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) โดยการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย 

จากการประกาศครั้งนี้ ทำให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นับเป็น "แหล่งมรดกโลก" ลำดับที่ 8 และ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของประเทศไทย 

อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535

รู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท"

ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร ประกอบด้วย 

  1. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
  2. แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตาม เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล จำนวน 2 ข้อ 

ใบเสมาหิน แหล่งวัฒนธรรมสีมา

ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์ กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดี ที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก

ใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ 

ถ้ำพระ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

เกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) 

ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

 

 

รัฐบาลเปิดให้เข้าชมภูพระบาทฟรี ตั้งแต่ 28 ก.ค. – 12 ส.ค. 67

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 รวมทั้งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน 

เพื่อเป็นการร่วมชื่นชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก และให้ประชาชนคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลอง กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม ตั้งแต่วันนี้ 28 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม 2567

ทั้งนี้ รัฐบาลคำนึงถึงการอนุรักษ์และพัฒนามรดกสำคัญของชาติ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยว จัดทำแผนบริหารการจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ และต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสีมาในประเทศไทย รวมทั้ง การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม ภายหลังการได้รับประกาศเป็นมรดกโลก

พร้อมกันนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งมรดกโลก ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทย ได้นําเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกที่รอการรสนับสนุน และผลักดันเข้าสู่บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่

  1. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555)
  2. อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558)
  3. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560)
  4. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562)
  5. สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567) โดยล่าสุดเพิ่งได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ในการประชุมที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เช่นเดียวกัน

"ยูเนสโก" รับรองมรดกโลกของไทย 8 แห่ง

ปัจจุบัน "ยูเนสโก" ได้รับรองมรดกโลกไทยไปแล้ว 8 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ดังนี้

มรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง

  1. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร) 
  2. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร 
  3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี 
  4. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ปี พ.ศ. 2566
  5. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ปี พ.ศ. 2567 

มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง

  1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปี พ.ศ.2534
  2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี พ.ศ.2548 
  3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน ปี พ.ศ.2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related