svasdssvasds

4 ประเภทของศาสนา แบ่งตามความเชื่อเรื่อง ‘พระเจ้า’

4 ประเภทของศาสนา แบ่งตามความเชื่อเรื่อง ‘พระเจ้า’

ประเภทของศาสนา แบ่งตามความเชื่อเรื่อง ‘พระเจ้า’ เอกเทวนิยม พหุเทวนิยม สัพพัตถเทวนิยม และอเทวนิยม แตกต่างกันอย่างไร ?

SHORT CUT

  • เปิด 4 ประเภทของศาสนา  แบ่งตามความ "เชื่อเรื่องพระเจ้า" และ "ไม่เชื่อ"
  • พุทธศาสนาจัดเป็น อเทวนิยม เชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต่างมีเหตุผล
  • ปัจจุบัน ศาสนาพุทธในไทย มีเป็นทั้ง "เทวนิยม" และ "อเทวนิยม" เพราะมีการผสมเรื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จาก พราหมณ์-ฮินดู เข้ามา 

ประเภทของศาสนา แบ่งตามความเชื่อเรื่อง ‘พระเจ้า’ เอกเทวนิยม พหุเทวนิยม สัพพัตถเทวนิยม และอเทวนิยม แตกต่างกันอย่างไร ?

ช่วงนี้มีกระแสชาวพุทธ ออกมาท้าชนกับเหล่าผู้วิเศษกันอย่างดุเดือด โดยให้เหตุผลว่าผู้วิเศษเหล่านั้น บิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้คนเข้าใจศาสนาในทางที่ผิด

ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนมาดูที่หัวใจของพระพุทธศาสนานั้น คือการใช้หลักเหตุผลตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ให้เชื่อถือในสิ่งไร้เหตุผล และถือเป็นศาสนาแห่งความจริงที่โลกยอมรับ

แต่ประเด็นนี้ผู้วิเศษที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ สะท้อนว่า ศาสนาพุทธในสังคมไทย ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์- ฮินดู มาตั้งแต่อดีตกาล ทำให้การกราบไหว้ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล ไปจนถึงศรัทธาในตัวผู้มีอิทธิฤทธิ์ เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย จนกลายเป็นเรื่องปกติ ของ “พุทธ” แบบไทยไปแล้ว และเมื่อคนเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต ก็มีแนวโน้มที่จะหันไปถึงพาสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แทนที่จะเป็นการใช้หลักเหตุผลตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ถึง “พุทธ” กับ “พราหมณ์” ในสังคมไทย จะแยกออกจากกันไม่ได้ แต่เมื่อมองถึงแก่นแท้ของศาสนาทั้ง 2 นั้น ถูกจัดให้เป็นคนละประเภทศาสนากัน ซึ่งโลกนี้มีการแบ่ง ประเภทของศาสนาเป็น 4 แบบหลักๆ ดังนี้

4 ประเภทของศาสนา แบ่งตามความเชื่อเรื่อง ‘พระเจ้า’

4 ประเภทหลักของศาสนา

1.เอกเทวนิยม (Monotheism)

เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว หรือพระเข้าเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแบ่งภาค ซึ่งพระเจ้าจะเป็นผู้ดูแลและแทรกแซงเหตุการณ์ของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นผู้มีพระคุณและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความดีสูงสุด ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวนี้ มีต้นกำเนิดมาจาก ศาสนายูดาห์ หรือศาสนายิวในอิสราเอลยุคโบราณ ที่นำพระยาห์เวห์มาเป็นวัตถุบูชาเพียงองค์เดียว และปฏิเสธพระเจ้าของชนเผ่าและชนชาติอื่นอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เอกเทวนิยม มีจุดอ่อนคือ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากพระเจ้ามีอำนาจสูงสุด แล้วใครคือผู้สร้างความชั่วร้าย ซึ่งฝั่งที่เชื่อในพระเจ้าก็มักตอบว่า มนุษย์สร้างความชั่วร้ายกันเอง ไม่ใช่พระเจ้า

ศาสนาแบบเอกเทวนิยม เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้น

2.พหุเทวนิยม (Polytheism)

บูชาในพระเจ้าหลายองค์ ซึ่งเป็นเกือบทุกลักษณะของศาสนาในอดีตที่เต็มไปด้วยทวยเทพ ซึ่งแตกต่างจาก เอกเทวนิยม อย่างชัดเจน และผู้ที่เชื่อแบบพหุเทวนิยมไม่ได้บูชาเทพเจ้าทุกองค์เสมอกัน แต่อาจบูชาเฉพาะองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพิเศษก็ได้ ซึ่งนำมาสู่จุดอ่อนคือมีความคลุมเครือว่าพระเจ้าองค์ไหนที่มีพลังอำนาจมากที่สุด

ศาสนาแบบพหุเทวนิยม เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาชินโต ศาสนากรีกโบราณ ศาสนาอียิปต์โบราณ เป็นต้น

3.สัพพัตถเทวนิยม (Pantheism)

บูชาพระเจ้าสถิตอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทุกสิ่งมีเทพเจ้าประจำอยู่ทั้งสิ้น เช่น แม่น้ำก็มีพระแม่คงคา แผ่นดินก็มีพระแม่ธรณี ต้นไม้ก็มีรุกขเทวดา เป็นต้น นอกจากนี้บางแห่งยังเชื่อว่า พระเจ้าเป็นจักรวาล ไม่ใช่บุคคล ไม่มีความรู้สึก และไม่ตัดสินมนุษย์

ศาสนาแบบสัพพัตถเทวนิยม เช่น ศาสนาฮินดู (บางลัทธิ) เชื่อว่าพระพรหมสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเป็นคำอธิบายพระเจ้าในเชิงปรัชญา

4. อเทวนิยม (Atheism)

ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า พระเจ้าเป็นเพียงจินตนาการ และสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต่างมีเหตุผล ซึ่งรูปแบบนี้มีความซับซ้อน และอาจรวมถึงคนที่ไม่นับถือศาสนาเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นฝั่งความเชื่อตรงข้ามกัน 3 แบบข้างต้นอย่างสิ้นเชิง

ศาสนาแบบอเทวนิยม เช่น ศาสนาเชน และ ศาสนาพุทธ (นิกายเถรวาทและนิกายเซน) เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม มีวิธีจำแนกประเภทศาสนามากมายกว่านี้ไม่ว่าจะเป็น แยกแบบกว้างๆ แค่ 2 แบบ อย่าง เชื่อในพระเจ้า “เทวนิยม (Theism) ” และ ไม่เชื่อในพระเจ้า “อเทวนิยม (Atheism) ” หรือ แบ่งตาม “ศาสนาที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Religion) ” กับ “ศาสนาที่ตายแล้ว (Dead Religions) ก็ได้”

ศาสนา ต้อง มีองค์ประกอบ 5 อย่างคือ

แต่คำว่า ศาสนา ต้อง มีองค์ประกอบ 5 อย่างคือ

  1. ศาสดา (Founder) ผู้ก่อตั้งศาสนา หรือผู้เผยแพร่คำสอนดั้งเดิม
  2. คัมภีร์ศาสนา (Scripture) คำสั่งสอนที่ที่ได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร
  3. นักบวช หรือ ผู้สืบต่อศาสนา (Follower) ผู้แทนเป็นทางการของศาสนา นั้น ๆ
  4. วัด หรือ ศาสนสถาน (Holy Place) ที่ตั้งของศาสนา หรือสถานที่เคารพทางศาสนา
  5. เครื่องหมาย (Religious Symbol) สิ่งแทน พิธีกรรม รวมทั้งปูชนียวัตถุ คือสิ่งที่พึงเคารพบูชา

อย่างไรก็ตาม แต่ละศาสนาถึงจะแตกต่างกัน แต่ทุกศาสนาก็มีเป้าหมายคือยกระดับจิตใจของบุคคล เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ทำหน้าที่ส่องไฟนำทาง และช่วยให้มนุษย์บนโลกใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

แต่ทุกวันนี้มีหลายกลุ่ม หลายลัทธิเอาคำสอนต่างๆ ของศาสนาไปบิดเบือนเพื่อหาผลประโยชน์เข้าพวกตัวเอง และที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังอยู่ได้ในสังคมไทย อาจเป็นเพราะคนยุคนี้ไม่มีความมั่นคงในจิตใจ อยากได้อยากรวยแบบขาดสติ และอยากบรรลุธรรมแบบวิเศษกว่าผู้อื่น ความเชื่อแบบพุทธ- พราหมณ์ หรือ “ศาสนาผี” อื่น จึงยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยต่อไป

ที่มา : Britannica / Kalyanamitra

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related