SHORT CUT
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 100 ภารกิจมนุษยธรรมเพื่อผู้ป่วยยากไร้ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ที่อำเภอแม่สอด โดยมูลนิธิสร้างรอยยิ้มและอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Thailand) ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แผลไหม้ และความผิดปกติอื่นๆ บนใบหน้า ที่ รพ.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งถือเป็นภารกิจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งที่ 100 ของมูลนิธิ หลังจากก่อตั้งและดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544
โดยการออกหน่วยแพทย์มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และทันตแพทย์ พร้อมด้วยพยาบาลและจิตอาสาที่เดินทางมาร่วมด้วยกว่า 180 คน ดำเนินการตรวจคัดกรอง ประเมินอาการ และทำหัตถการเพื่อรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติอื่นๆให้ฟรี แก่ประชาชนทุกสัญชาติ โดยในครั้งนี้มีผู้ป่วยเข้าคัดกรองกว่า 176 คน
“ตอนแรกก็ร้องไห้เลยที่ลูกเกิดมาแบบนี้ แต่พอเย็บเสร็จก็ดีใจมากที่ลูกเราเป็นเหมือนคนอื่นแล้ว อยู่ที่หมู่บ้านเราไม่มีหมอแบบนี้ และไม่มีเงินที่จะรักษาด้วย แต่มาที่นี่ฟรีหมดทุกอย่าง ดูแลดีมาก ขอขอบคุณคุณหมอค่ะ” Ru Tha Paw คุณแม่ของน้อง Eh Doh Soe อายุ 1 ปี 11 เดือน พาลูกชายมาเพื่อรักษาอาการเพดานโหว่
หลังจากที่น้องได้รับการผ่าตัดรักษาอาการปากแหว่งเมื่ออายุได้ 5 เดือนไปแล้วมีอาการที่ดีขึ้น เปิดใจคุยกับทีมข่าวก่อนที่จะได้พบแพทย์ เธอดีใจที่การรักษาลูกชายเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ลูกสามารถยิ้ม หัวเราะ กินนมได้เหมือนเด็กคนอื่นๆแล้ว
การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ครั้งนี้ นับเป็นการออกหน่วยแพทย์ครั้งที่ 100 ซึ่งพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นสถานที่ที่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ออกหน่วยมากที่สุด เนื่องด้วยมีผู้ป่วยยากไร้ จำนวนมากที่รอรับการรักษา ประกอบกับจำนวนศัลยแพทย์ตกแต่งที่ โรงพยาบาลแม่สอด มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้ป่วย
โรคปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความไม่สมบูรณ์ของทารกในครรภ์ช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจเป็นเพราะภาวะขาดสารอาหารของมารดา หรือการรับสารพิษ ผลข้างเคียงของยา การตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวจึงขาดการบำรุงที่เหมาะสม ภาวะนี้อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือส่งผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยได้
ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาในช่วงวัยที่เหมาะสม ตั้งแต่อายุ 3 เดือนถึง 1 ปี จะมีโอกาสลดความพิการกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ โดยการรักษาจะต้องใช้การประเมินจากแพทย์หลายแขนง และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แก่ผู้ป่วยยากไร้ จึงเป็นการทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย