SHORT CUT
เวทีเสวนา US Election 2024 ชี้ชัดไทยต้องเร่งหาจุดยืนทางมนุษยธรรมต่อปัญหาในประเทศและเป็นตัวกลางแก้ปัญหาเมียนมา ไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบแน่นอน รัฐบาลไทยต้องจับสัญญาณเตรียมรับมือ
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงาน US Election 2024 ถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ว่า หากผลการเลือกตั้งที่ออกมาพรรครีพับบลิกันหรือพรรคเดโมแครตชนะ ก็ล้วนแล้วแต่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้โลกแน่นอน เพราะแต่ละฝ่ายก็จะมีแนวทางการสนับสนุนและความเห็นต่างที่แตกต่างกันไป ประเทศไทยเองแม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงในการเมืองโลกแต่ก็จะได้รับผลกระทบทันที ดังนั้นประเทศไทยต้องกวาดสัญญาณและทันต่อกระแสโลก
ในบริบทของความขัดแย้งในเมียนมาร์ ไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเมียนมาร์เอง แต่ยังส่งผลต่อไทยโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องของประชากรเมียนมาร์ที่อพยพเข้ามาในไทย
สุรเกียรติ ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา มีความเกี่ยวข้องกับหลายชาติมหาอำนาจ ไทยควรรักษาจุดยืนที่เป็นกลาง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งของฝ่ายใด แต่ควรใช้ศักยภาพของตนในการเป็นสะพานเชื่อมในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง รวมถึงประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่ไทยทำได้ดี และควรส่งเสริมต่อไป
สุรเกียรติ กล่าวว่า การเน้นย้ำจุดยืนของไทยในการเป็นผู้นำด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการเป็นสะพานเชื่อมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงส่งเสริมสันติภาพในเมียนมาร์เท่านั้น แต่จะช่วยให้ไทยมีบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้นในเวทีอาเซียนและระดับโลก
ด้าน ผศ.ดร.ประพีนชร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า หาก คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง ก็จะมีการสืบทอดนโยบายของโจ ไบเดน ที่เน้นการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ไทยจึงต้องเร่งหาจุดยืนและบทบาทที่จะเป็นตัวกลางในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในประเทศเมียนมา เราจะเห็นสัญญาณที่ดีที่ในขณะนี้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้ว และรัฐบาลเองก็พยายามหาจุดยืนในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ขณะเดียวกันหากไทยหาจุดยืนในด้านนี้ช้าก็อาจจะส่งผลให้ในอนาคตถูกกดดันในประเด็นอื่นๆ เช่น โปรแกรม GSP ที่ไทยเคยถูกตัดสิทธิเนื่องจากไม่มีการรับรองสิทธิแรงงาน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน หากแม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ประเทศไทยเองก็ต้องหาจุดยืนด้านมนุษยธรรมที่ชัดเจนเช่นกัน เพราะนโยบายของทรัมป์คาดเดาได้ยากและไม่มีความแน่นอน เห็นได้จากการตัดสิทธิ GSP ของไทยในยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม ในงานเสวนา ยังมีการแสดงความเห็นในประเด็นอื่นๆ ที่ประเทศไทยต้องจับสัญญาณและรับมือถึงผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันทางการเงินที่เป็นความท้าทายของผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ต้องรับมือ เมื่อเงินหยวนและเงินยูโรเริ่มเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น การซื้อขายพลังงานกับซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย
กรณีการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย อาจจะยุติได้ หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะมีโอกาสที่จะใช้ความสนิทกับปูตินยุติปัญหานี้ และการให้ความช่วยเหลือทางด้านงบประมาณและการทหารจากสหรัฐอเมริกาไปสู่ยูเครนก็จะลดลง แต่หากเป็นแฮร์ริสอาจจะสนับสนุนยูเครนต่อไป แม้รัฐสภาและความคิดเห็นสาธารณะของประชาชนในประเทศอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ถ้าตราบใดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังพอไปได้ แฮร์ริสคงจะสนับสนุนต่อไปด้วยงบประมาณที่น้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจ
ขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะจุดยืนของทั้งสองพรรคไม่น่าจะต่างกันมาก โดยเฉพาะจุดยืนต่อประเทศอิสราเอล ที่พลังของชาวยิวสามารถเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะในสหรัฐฯ ได้ และแน่นอนว่าจุดยืนต่อผู้ก่อการร้ายและประเทศที่อยู่เบื้องหลังก็ยังคงเหมือนกันทั้งสองพรรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง