SHORT CUT
รมว.กระทรวงการคลัง เผย Fed ลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้น ส่วนไทยจะลดดอกเบี้ยตามหรือไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอิสระในการกำหนด
ประธาน Fed (เฟด) แถลงว่า การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ สะท้อนทิศทางบวกและความเหมาะสมของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพื่อรับกับภาวะชะลอตัวของตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดแรงงานมีความเข้มแข็งท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับปานกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงใกล้ถึงระดับ 2% ตามเป้าหมายของเฟด โดยยังสูงกว่าเพียง 0.5%
“การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของเรา ในการปรับนโยบายใหม่ที่เหมาะสม และ ความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานก็สามารถรักษาไว้ได้ ในบริบทของการเติบโตในระดับปานกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างยั่งยืนสู่ 2%” นายเจอร์โรม พาวเวลล์ กล่าว
ผู้กำหนดนโยบายของFed ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้
17- 18 กันยายน 2567 ลดดอกเบี้ยแล้ว 0.5 %
6 – 7 พฤศจิกายน 2567 คาดลดดอกเบี้ย 0.25%
17 – 18 ธันวาคม 2567 คาดลดดอกเบี้ย 0.25 %
และคาดจะลดลงอีก 1% ในปี 2025 ตามด้วยการลดลงอีก 0.5% ในปี 2026 ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วนั้น อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ตัวเลข 2.75%-3%
แม้การลดดอกเบี้ยของFed จะมุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่นโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจ นั้นส่งแรงกระเพื่อมต่อโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า คาดการณ์ไว้แล้วว่าสหรัฐอเมริกาจะลดดอกเบี้ย และในมุมของนักวิชาการ ไทยคงจะต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงิน เมื่อประเทศมหาอำนาจลดดอกเบี้ย ไทยซึ่งเป็นประเทศที่เรื่องเงิน เศรษฐกิจ ผูกติดกับสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก
ทุกครั้งที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยก็จะมีผลกระทบต่อไทย เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทไทยก็จะอ่อน แต่เมื่อ Fed ลดดอกเบี้ย ค่าเงินบาทไทยก็จะแข็งขึ้น
ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือไม่นั้น นายพิชัย ยืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเป็นอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง แนวโน้มดอกเบี้ยของไทย เราต้องทําให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโนบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีอิสระในเรื่องของการที่จะกําหนดทิศทางดอกเบี้ย แต่กระทรวงการคลัง กับ แบงก์ชาติต้องมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้รับผลลัพธ์ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เคยประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา และจะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งในเดือนตุลาคม คงต้องรอการประชุมครั้งถัดไป ของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีท่าทีอย่างไร จะตรึงดอกเบี้ยหรือจะลดตามสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 15 ตุลาคม นี้