เปิด 4 ทริค 4 วิธีง่ายๆ จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะช่วยให้ทุกคน ประหยัดในการจ่ายดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย จนเลือดตาแทบกระเด็น อยู่ทุกเดือน
จากกรณีที่เป็นกระแสสังคมกับไวรัลในสังคม จากประเด็น ผ่อนบ้านดอกเบี้ยโหด 10,849.50 บาท แต่หักเงินต้นแค่ 5.5 บาท หลายคนๆ ให้ความเห็นสนั่นในโลกออนไลน์ โดยตั้งข้อสงสัยเรื่องจริงหรือไม่ และถามถึงรายละเอียดการผ่อนที่แท้จริงเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่กำลังเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์นั้นถือว่ามีน้อยเกินไป และ ไม่สามารถที่จะตอบได้ชัดเจนว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยบ้านที่ปรับสูงขึ้นหรือไม่ หรืออาจจะเป็นที่ระบบธนาคารผิดพลาด เรื่องนี้คำตอบยังไม่เป็นที่แน่ชัด
แต่ถึงกระนั้น ตามปกติแล้ว ในการผ่อนค่าบ้านแต่ละงวด ธนาคารจะตัดดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจะตัดเป็นเงินต้น ซึ่งในช่วง 1-3 ปีแรก ธนาคารจะมีโปรโมรชั่นดอกเบี้ยคงที่ หรือ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจลูกค้า แต่หลังจากปีที่ 3 ก็จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
แนะนำให้ประชาชนติดต่อธนาคาร เพื่อขอเจรจาต่อรองขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเดิม หรือเรียกว่ารีเทนชั่น โดยสามารถทำได้หลังจากผ่อนชำระครบ 3 ปีแล้ว หรือ อาจจะย้ายไปกู้กับธนาคารแห่งใหม่ หรือ รีไฟแนนซ์ เพื่อลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่ และ เพื่อลดดอกเบี้ยบ้านให้ต่ำลง
หากจะบอกว่าเรื่อง ดอกเบี้ย เป็นเรื่องสำคัญและมีบทบาทในชีวิตของคนส่วนใหญ่ ความรู้เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรทราบ เพราะถ้าเราไม่รู้หรือเข้าใจผิดก็มักทำให้เกิดผลเสีย เช่น ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยมาก ทั้ง ๆ ที่มีวิธีที่จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้ หรือเสียดอกเบี้ยมากโดยไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจผิดเรื่องเงื่อนไขการคำนวณ
ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง 4 เรื่องที่พบว่ามีหลาย ๆ คนเข้าใจผิดมาเคลียร์ให้เข้าใจกัน
1. หากใช้บัตรเครดิตซื้อของแล้วจ่ายแค่บางส่วน จะเสียดอกเบี้ยแค่ส่วนที่ยังไม่จ่าย
คำตอบ ของเรื่องนี้ คือ สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดก็คือ หากเราจ่ายแค่บางส่วน เช่น รูด 10,000 บาท แต่จ่ายแค่ 7,000 บาท เราก็จะหมดสิทธิ์ที่จะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย
และจะถูกคิดดอกเบี้ยจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ยอดเต็มจำนวน 10,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยย้อนกลับไปเริ่มตั้งแต่วันที่เรารูดบัตรหรือวันที่บันทึกรายการ จนถึงวันก่อนวันที่เราชำระ และส่วนที่สอง ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยจากยอดค้าง 3,000 บาท นับจากวันที่เราชำระจนถึงวันก่อนวันที่เราชำระครั้งต่อไป ดังนั้น ต้องระลึกไว้เสมอว่า อย่าลืมถามตัวเองก่อนว่า หากจะใช้บัตรเครดิต เราสามารถจ่ายเต็มจำนวนได้ใช่หรือไม่ เพื่อจะทำให้เราไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตอย่างแท้จริง
2. ผ่อนบ้านมาหลายปี จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด
คำตอบของเรื่องนี้ คือ ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นแบบลดต้นลดดอก (effective rate) โดยในการชำระแต่ละงวดจะแยกเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย หากจำนวนเงินที่เราชำระเท่ากันทุกงวด ในช่วงปีแรก ๆ ค่างวดที่ชำระส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย และถูกนำมาตัดเงินต้นแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะเงินต้นยังมีจำนวนสูงอยู่ แต่เมื่อเราชำระไปหลายปีแล้ว ค่างวดจะเปลี่ยนสัดส่วนมาหักชำระเงินต้นได้เยอะขึ้นและเหลือส่วนที่เป็นดอกเบี้ยน้อยลง เพราะเงินต้นมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ
นั่นหมายความว่า เมื่อเราๆท่านๆ รู้แบบนี้แล้ว หากเรามีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือน จึงควรแบ่งมาผ่อนบ้านให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ทยอยโปะ” เพื่อช่วยให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นและเสียดอกเบี้ยน้อยลง
3. ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบเงินต้นคงที่ มาเป็นแบบลดต้นลดดอกแล้ว
การเช่าซื้อรถยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยที่คำนวณแบบ “เงินต้นคงที่ (flat rate)” อยู่ โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อน เพียงแต่ต้องระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี
และมีการแจ้งตารางชำระแบบลดต้นลดดอกไว้ในสัญญาด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่ออื่นได้ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าการเช่าซื้อรถได้เปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยเป็นแบบ “ลดต้นลดดอก” แล้ว และคิดว่าเงินที่จ่ายค่างวดเกินไปหรือการทยอยโปะจะช่วยลดดอกเบี้ย และทำให้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น
นั่นหมายความว่า หากลูกหนี้ต้องการรับส่วนลดดอกเบี้ย จึงจะต้อง “โปะปิดบัญชี” โดยชำระยอดคงค้างให้หมดในงวดเดียว ถึงจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอยู่ 60-100% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราชำระค่างวดไปมากเท่าไหร่แล้ว
4. ดอกเบี้ยแค่ 2% ถูกสุด ๆ จริงหรือไม่ ?
อัตราดอกเบี้ยที่โฆษณาในโบรชัวร์ต่างๆ ที่เขียนแค่ "อัตราดอกเบี้ย" โดยไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยว่าเป็นต่อปี ต่อเดือน หรือต่อวัน ทำให้ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน
และอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าไม่แพง ฉะนั้น หากต้องการกู้เงิน จึงควรต้องถามพนักงานหรือบริษัทที่เราจะกู้เงินให้ชัดเจน และแปลงอัตราดอกเบี้ยให้เป็นต่อปีตามสูตรนี้
อัตราดอกเบี้ยต่อปี = อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในโบรชัวร์ คูณ X ตัวคูณเพื่อแปลงอัตราดอกเบี้ย สมมติว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในโบรชัวร์ คือ 2% ต่อเดือน ให้นำ 12 ไปคูณกับ 2% ก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% ต่อปี แพงหรือไม่ถามใจตัวเองดู
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แนะนะและ สรุปวิธีที่ช่วยประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ดังนี้
และข้อที่สำคัญที่สุดนั้น ทุกคนต้องอย่าลืมศึกษาและทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใช้บริการทุกครั้ง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง