SHORT CUT
ในอดีต สหรัฐฯ เคยเตรียมเลี้ยงฮิปโปเป็นอาหารหลักแทนเนื้อวัว ถึงขนาดคิดคำว่า ‘เบคอนวัวทะเลสาบ (LAKE COW BACON) ’ เตรียมไว้ใช้ในร้านอาหารแล้ว!
ก่อนที่ฮิปโปจะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างทุกวันนี้ ในอดีตปี 1910 ชาวสหรัฐฯ เคยมีความคิดที่จะนำเข้าพวกมันจากแอฟริกา เพื่อมาเลี้ยงในฟาร์มแทนวัวกันเลยทีเดียว เนื่องจากเวลานั้นสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์อย่างหนัก
โครงการนำเข้าสัตว์จากแอฟริกา เป็นความคิดของ ‘โรเบิร์ต บรูสซาร์ด (Robert Broussard)’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐลุยเซียนา ได้สนับสนุนให้ร่างกฎหมาย ‘HR 23261’ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ “ร่างกฎหมายฮิปโป” เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนการนำเข้าฮิปโปโปเตมัสมาเลี้ยงที่รัฐลุยเซียนา
ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณ 250,000 ดอลลาร์เพื่อนำเข้าสัตว์แอฟริกันหลากหลายชนิด และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงหลายคน โดยเฉพาะ ‘วิลเลียม เออร์วิน (William Irwin) ’นักวิจัยจาก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ถึงขั้นพรรณนาว่า “ฉันหวังว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะได้เห็นสัตว์หลังกว้างฝูงใหญ่เหล่านี้ แช่ตัวอยู่ในหนองบึงและแม่น้ำทางตอนใต้ กินอาหารนับล้านตันที่รอคอยการมาถึงของพวกมัน ได้ดูแรดขาวจำนวนมากเดินเตร่ไปมาในทะเลทรายอันแห้งแล้ง และกินหญ้าที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในทุ่งหญ้า และเพื่อดูฝูงยีราฟที่บอบบางแต่เนื้อหวานที่สุดในบรรดาสัตว์ทุกชนิดที่รู้จัก ให้พวกมันกินยอดและดอกตูมของต้นไม้เล็กๆ เพื่อเตรียมส่งไปขายที่ร้านขายเนื้อ”
พูดง่ายๆ คือสหรัฐฯ ในเวลานั้น เตรียมเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรของตัวเองให้เป็นป่าเลี้ยงสัตว์แอฟริกาเพื่อการบริโภคกันเลยทีเดียว
ในส่วนของฮิปโป พวกมันจะถูกเลี้ยงตามหนองบึง โดยกิน ผักตบชวาที่รุกรานแอ่งน้ำเป็นอาหาร เมื่ออ้วนท้วนสมบูรณ์ ก็จะถูกส่งไปเป็นอาหารให้คนกินต่อไป เรียกว่าชาวสหรัฐฯ ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว’ กันเลยทีเดียว และในช่วงนั้นหนังสือพิมพ์รายวัน The New York Times ก็ถึงขั้นคิดคำว่า ‘เบคอนวัวทะเลสาบ (LAKE COW BACON)’ ขึ้นมาเพื่อให้คนทั่วไปเรียกเนื้อชนิดนี้ได้อย่างสะดวก และเพื่อบรรยายรสชาติของเนื้อฮิปโปที่คล้ายเนื้อวัวอย่างมาก และใครๆ ก็เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะมีเนื้อฮิปโปออกมาจำหน่ายในอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฮิปโป ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงๆ เพราะรัฐสภาไม่มีเวลาเพียงพอที่จะลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว และแม้ว่าร่างกฎหมายฮิปโปจะถูกนำเสนออีกครั้งในปี 1911 แต่ก็ตรงกับช่วงที่สหรัฐฯ เริ่มฟื้นฟูระบบปศุสัตว์ของตัวเองได้แล้ว จึงทำให้คนหมดความสนใจในเนื้อฮิปโปไปแล้ว สุดท้ายแนวคิดนี้จึงล้มเลิกไปในที่สุด
นับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่งสำหรับเผ่าพันธุ์ฮิปโป เพราะคงแปลกไม่น้อยเมื่อหนึ่งในสัตว์ที่อันตรายที่สุดของแอฟริกา จะกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงสุดเชื่องฟาร์มทางรัฐตอนใต้ของสหรัฐ รวมถึงคงตลกน่าดู หากมีภาพคนแต่งชุดแบบคาวบอย คอยขี่ม้าดูแลฝูงฮิปโปตามหนองบึง และไม่ต้องสงสัยเลยว่า สายพันธุ์ ‘ฮิปโปโปเตมัสแคระ’ จะต้องถูกรวมอยู่ในนั้นแน่นอน เพราะพวกมันตัวเล็ก และเลี้ยงง่ายเหมือนหมู
อย่างไรก็ตาม ถึงฮิปโปจะรอดจากชะตากรรมการกลายเป็นอาหารมนุษย์ไปได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของพวกมันก็คือว่าอยู่ในจุดน่าเป็นห่วง เพราะมีฮิปโปเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 130,000 ตัว และฮิปโปโปเตมัสแคระ ในธรรมชาติก็มีเพียงไม่เกิน 3,000-5000 ตัวเท่านั้น
ที่มา : On Pasture / Ripleys
ข่าวที่เกี่ยวข้อง