ทำแผนเร่งด่วนแก้วิกฤตปลาหมอคางดำ กว่า 181 ล้านบาท หลังมีปัญหาการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2561 แก้ด้วยงบประมาณ 16 ล้าน ไม่เป็นผล
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 67 นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคไทรวมพลัง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ 2568 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วาระที่ 2 หลังนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน เสนอตัดลดงบประมาณกรมประมง โครงการค่าใช้จ่ายเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเอาไปเพิ่มรายได้ และลดค่าครองชีพประชาชน จำนวน 307 ล้านบาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลง 5 เปอร์เซ็นต์ จากปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งหากกรมประมงทำหน้าที่เต็มที่ในการดูแลแหล่งน้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงเช่นนี้ และการทำหน้าที่ของกรมประมงก็ยังไม่ดีพอ
นายวสวรรธน์ ยืนยันว่า กรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับปัญหาปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาด จนเป็นปัญหาระดับประเทศ และยอมรับว่า ปัญหาที่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2561 นั้น ก็ใช้งบประมาณไปเพียง 16 ล้าน ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น กรรมาธิการฯ ก็ได้มีข้อสังเกตไปยังรัฐบาลให้ใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ โดยในระยะแรกในการเฝ้าระวังการแพร่กระจาย และศึกษาผลกระทบ ใช้งบประมาณราว 7,000,000 บาท แต่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนอีก 181 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายวสวรรธ ชี้แจงว่า กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ตั้งงบประมาณ สำหรับการแก้ปัญหาเร่งด่วนในปี 2568 ในระยะกลางไว้แล้ว จำนวนกว่า 194 ล้านบาท เพื่อไปขยายพันธุ์มันสำปะหลัง ที่สามารถต้านทานโรคใบด่างได้ โดยเป็นพันธุ์อิทธิ (อิด-ทิ) 1, 2 และ 3 พร้อมขอบคุณไปยังมูลนิธิสถาบันมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ที่ได้เอื้อเฟื้อพันธุ์มันสำปะหลังแก่รัฐบาล เพื่อนำไปขยายพันธุ์ให้กับเกษตรกรต่อไป