svasdssvasds

Concord เจ๊ง ส่วน Black Myth : Wukong ผู้เล่น 37 ล้าน สะท้อนเกมเมอร์ไม่ชอบ woke ?

Concord เจ๊ง ส่วน Black Myth : Wukong  ผู้เล่น 37 ล้าน สะท้อนเกมเมอร์ไม่ชอบ woke ?

Black Myth : Wukong ทะยานสู่ผู้เล่น 37 ล้านคน เป็นแสงแห่งความหวังของเกม AAA จีนในอนาคต ส่วนเกมจากตะวันตกที่ขาย woke พากันล้มเหลว สะท้อนว่าวงการนี้ไม่ใช่ที่จะมา Woke

SHORT CUT

  • Wukong ของ ‘Game Science’ บริษัทเกมสัญชาติจีน เหมือนจะเป็นที่ยอมรับแล้วว่า คือผลงานชิ้นเอกของวงการเกมจากจีนอย่างแท้จริง
  • กลับกัน เกมที่ชูตัวเองว่ามีความหลากหลาย เป็นไปตามมาตรฐานของสังคมสมัยใหม่อย่าง Concord ของ Firewalk Studios บริษัทเกมที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
  • เกม Woke มากมายที่ล้มเหลว ไม่ได้เอาความสนุกของผู้เล่นเป็นหลัก แต่กลับสร้างเกมเพื่อเป็นเหมือนใบหาเสียงให้ตัวเอง

Black Myth : Wukong ทะยานสู่ผู้เล่น 37 ล้านคน เป็นแสงแห่งความหวังของเกม AAA จีนในอนาคต ส่วนเกมจากตะวันตกที่ขาย woke พากันล้มเหลว สะท้อนว่าวงการนี้ไม่ใช่ที่จะมา Woke

ณ เวลานี้ เกม Black Myth: Wukong ของ ‘Game Science’ บริษัทเกมสัญชาติจีน เหมือนจะเป็นที่ยอมรับแล้วว่า คือผลงานชิ้นเอกของวงการเกมจากจีนอย่างแท้จริง เพราะหลังจากวางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ตอนนี้ มียอดขายมากกว่า 10 ล้านชุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมยังทำยอดผู้เล่น ทะลุ 37 ล้านคน! ใน Steam เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแพลตฟอร์มด้วย

Black Myth: Wukong นับเป็นเกม AAA จากจีนเกมแรกที่ก้าวสู่ตลาดโลก นั่นหมายความว่าผู้พัฒนาต้องลงทุนทั้งเวลาและเงินมหาศาล เพื่อผลิตผลงานศิลปะชิ้นนี้ แม้ระหว่างขั้นตอนการสร้างทางทีมงาน จะมีดราม่ากับสื่อตะวันตกว่าพนักงานมีแนวคิดเหยียดเพศ ไม่มีความหลากหลาย และไม่ได้ทำเกมให้ผู้หญิงเข้าถึงได้ แต่เมื่อผลสำเร็จออกมาแบบนี้ ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่านี่คือแสงแห่งความหวัง ของอุตสาหกรรมเกมจีนในอนาคตอย่างแน่นอน

Black Myth: Wukong

กลับกัน เกมที่ชูตัวเองว่ามีความหลากหลาย เป็นไปตามมาตรฐานของสังคมสมัยใหม่อย่าง Concord ของ Firewalk Studios บริษัทเกมที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า มียอดผู้เล่นแค่หลักร้อยคนต่อวัน และต้องปิดตัวลงหลังเปิดมาเพียง 14 วันเท่านั้น

เรื่องนี้อาจสะท้อนว่า ความหลากหลายในสื่อวิดีโอเกม รวมถึงแนวคิดทางการเมืองอื่นๆ อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นในสื่อวิดีโอเกมอย่างที่บรรดานายทุนคิด เพราะยังไงขึ้นชื่อว่าเกม ก็ต้องเน้นความสนุกก่อนเรื่องอื่นเสมอ

ความล้มเหลวของ เกม worke สุดโต่ง

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โลกมีการตระหนักถึงความเท่าเทียมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เพศ ศาสนา หลายองค์กรจึงมีต้องการให้ความตระหนักนี้เข้าไปอยู่ในทุกสื่อเพื่อกระจายไปสู่ผู้ชมให้หลากหลายที่สุด

วงการเกมก็ถูกทำให้ต้องคำนึงถึงความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน แต่เวลานี้ผลงานที่ ก็ได้รับคำตอบจากเกมเมอร์แล้ว เพราะเกม Concord ที่ใช้เวลาพัฒนาถึง 8 ปี ใช้ทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3500 ล้านบาท) กลับมีเสียงตอบรับที่ไม่ดีตั้งแต่วันทดลองเล่น เพราะตัวเกมเหมือนจะตั้งใจโชว์แค่การออกแบบตัวละครที่มีความหลากหลาย แต่ด้านอื่นๆ แทบไม่มีอะไรโดดเด่น ระบบเกมก็ล้าหลัง แถมยังจะขายด้วยราคาแสนแพงถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,360 บาทไทย) ทั้งๆ ที่เกมแนวนี้ก็เปิดให้เล่นฟรีกันเต็ม จึงไม่แปลกที่ต้องปิดตัวลงในที่สุด

Concord

อีกเกมที่น่าจะชะตากรรมคล้ายกันคือ Dustborn ของ สตูดิโอ Red Thread Games ค่ายเกมสัญชาตินอร์เวย์ ที่เน้นนำเสนอแนวคิดแบบซ้ายจัดสุดโต่ง ตัวละครในเกมจะดูเป็นผู้หญิงก็ไม่ใช่

ผู้ชายก็ไม่เชิง ซึ่งเปิดให้เล่น วันที่ 19 ส.ค. ก็ทำยอดผู้เล่นหลังเปิดตัวต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เช่นกัน โดยมีผู้เล่นสูงสุดตลอดกาลเพียง 83 คนในขณะที่จำนวนผู้เล่นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20 คนเท่านั้น

Dustborn

นอกเหนือจากนี้ ‘Suicide Squad: Kill the Justice League’ ของ Rocksteady ค่ายเกมในอังกฤษ ก็เปิดตัวอย่างน่าผิดหวังเช่นกัน ทั้งๆ ที่เกมเป็นเรื่องราวในจักรวาล DC ที่มีแฟนจำนวนมากตั้งตารอแท้ๆ แต่กลับมีดราม่าเพราะมีการเปลี่ยนเชื้อชาติตัวละคร และมีความเป็นเลสเบี้ยนสูง จนแฟนๆ รับไม่ได้

Suicide Squad: Kill the Justice League

โดยทั้ง 3 เกมที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าล้มเหลวสุด ๆ และเป็นที่น่าสังเกตว่าทุกเกมมีตัวละครแบบ LGBTQ ที่สุดโต่งเหมือนกัน จึงเห็นได้ชัดว่าผู้สร้างเกม ไม่ได้ทำผลงานมาเผื่อคนทั่วไป แต่สร้างมาเพื่อเอาใจคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่สิ่งที่ตลกร้ายคือคนกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้เป็นคนหมู่มากในวงการเกม เพราะเกมเมอร์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ woke สุดโต่งมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ดูได้จาก การประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม “Black Myth: Wukong” ที่พัฒนาโดยค่ายเกมจากจีน ซึ่งไม่มีการยัดเยียดเรื่องความหลากหลาย เรื่องลัทธิการเมือง หรือเปลี่ยนเพศตัวละครแต่อย่างใด มีเพียงเนื้อหาที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ไซอิ๋วเท่านั้น และทั้งเกมเมอร์จากตะวันตกและตะวันออกก็เข้าถึงได้ไม่ยาก เพราะตัวเลขผู้เล่นหลัก 10 ล้านคือเครื่องยืนยันในตัวของมันเอง

ค่ายเกมตะวันตก VS ค่ายเกมเอเชีย

ค่ายเกมจากทั้ง 2 ฝั่งของโลก ก็มีตรรกะที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยค่ายเกมจากตะวันตก ต่อให้ยังไม่ได้รับนโยบายความหลากหลายแบบสุดโต่งเข้ามา พวกเขาก็จะเน้นออกแบบตัวละครที่สมจริง จับต้องได้ และไม่ได้หล่อสวยเหนือมนุษย์เท่าไหร่นัก 

แต่เมื่อหลายองค์กรในโลก เริ่มรับนโยบาย DEI (แนวคิดเรื่องความแตกต่างเข้ามา) ทุกค่ายเกมก็เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบาย จากพระเอกเป็นคนขาว ก็ต้องกลายเป็นคนดำ จากตัวละครผู้หญิงสวยแบบนางเอก ก็ต้องลดความสวยลงมาให้อยู่ในระดับคนทั่วไป หรือที่แบบสุดโต่งเลยก็คือ เปลี่ยนตัวละครให้เป็น LGBTQ ที่ไม่ดูเป็นเพศไหนเป็นพิเศษไปเลย 

กลับกัน ค่ายเกมในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และเกาหลี มักมีการออกแบบตัวละครหล่อสวยเกินจริงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะยุคไหน นับว่าเป็นซิกเนเจอร์ของทวีปนี้ก็ว่าได้ และมีตัวละครเกมดังจากฝั่งเอเชียมากมายที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ในยุคที่ต้องมีความเท่าเทียม ค่ายเกมในเอเชียที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนนโยบาย ก็ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น Stellar Blade เกมจากค่าย Shift Up ในเกาหลีที่ถูกสื่อตะวันตกโจมตีว่าออกแบบตัวละคร "เซ็กซี่เกินจริง" แต่เกมกลับประสบความสำเร็จด้วยการทำยอดขายเกิน 1 ล้านชุด

Stellar Blade By AnIdyllicPlace

อีกเกมที่เป็นประเด็นคือ ‘Genshin Impact’ เกมมือถือสุดฮิตจากค่ายจีน ก็โดนโจมตีว่าเต็มไปด้วยตัวละครผิวขาวเต็มไปหมด จึงเหมือนแฝงการเหยียดผิวเอาไว้ แต่ทาง HOYO เจ้าของเกมก็ออกมาตอบกลับแบบสุภาพว่า ‘เกมเป็นแค่เรื่องแต่ง’

สุดท้าย เกมที่ดี ยังไงก็มีคนเล่น ?

นอกเหนือจากเรื่อง Woke หรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของระบบการเล่นมากกว่า ที่เป็นปัจจัยหลักในการมัดใจเกมเมอร์ทุกเพศทุกวัย เพราะต่อให้จะ Woke แต่ถ้าระบบเกมดี ก็มีคนเล่น เพราะการเพิ่มความหลากหลายอาจใช่เรื่องแย่อะไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิดีโอเกมเป็นสื่อบันเทิงอยู่วันยังค่ำ และควรทำหน้าที่เสริมสร้างจินตนาการ มากกว่ายัดเยียดความสมจริง

หากตัวละครไม่น่าดึงดูด มีการแฝงแนวคิดทางการเมือง หรือมีความเชื่อมโยงกับโลกความจริงมากไป มันก็อาจดูน่าเบื่อ และถูกมองข้ามจากผู้เล่นอยู่ดี ซึ่งในส่วนนี้เกมจากค่ายตะวันตกเริ่มถอยหลังลงเรื่อยๆ จากนโยบายความหลากหลาย ในขณะที่ค่ายเกมจากฝั่งเอเชียยังเน้นออกแบบตัวละครสวยน่าดึงดูดเหมือนเดิม

กรณี Black Myth: Wukong ที่ประสบความสำเร็จ อาจไม่ได้มาจากเหตุผลไม่ Woke เพียงอย่างเดียว เพราะตัวเกมพิสูจน์แล้วว่ามีความสนุก ท้าทาย ออกแบบมาดีตามมาตรฐาน สมราคาเกม AAA แถมเนื้อเรื่องสร้างจากตำนานที่หลายคนรู้จัก หรือถ้ายังไม่รู้จักก็มาเรียนรู้ในเกมได้ ได้ทั้งรายได้จากการขายเกม และได้เผยแพร่ Soft Power ของจีนไปด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่าที่ลงทุนไปจริงๆ

แต่เกม Woke ที่กล่าวมาข้างต้น และอีกมากมาย ไม่ได้เอาความสนุกของผู้เล่นเป็นหลัก แต่กลับสร้างเกมเพื่อเป็นเหมือนใบหาเสียง หรือไม่ก็ทำเอาใจนักวิจารณ์ฝ่ายซ้ายจัด ไม่ได้คำนึงเลยว่าผู้เล่นจะอยากรู้เรื่องที่จะสื่อหรือไม่ ความสำเร็จ และความล้มเหลวที่ต่างกันสิ้นเชิงนี้ เป็นเหมือนบทเรียนที่ทำให้ค่ายเกมทั่วโลกต้องเรียนรู้ว่า ต้องฟังเสียงผู้เล่นของพวกเขา ให้มากกว่าเสียงขององค์กรบางแห่งที่ต้องการยัดเยียดความหลายหลายแบบไม่สนอะไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

related