SHORT CUT
จบนอกเฟี้ยวกว่าจบไทย? ย้อนตำนานชุบตัวต่างแดนสร้างมูลค่าผ่านใบปริญญา เพราะเหตุใดใบปริญญาในเมืองนอกจึงมีค่าดั่งทองคำในสังคมไทย
การมีใบปริญญาสักใบ ถือได้ว่าเป็นเกียรติและมีหน้ามีตาอย่างยิ่งในสังคมไทย แต่การมีใบปริญญาสักใบไม่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อให้บัณฑิตหนึ่งคนจบการศึกษาและการเป็นบุคลากรที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้
ที่หนักไปกว่านั้นคือค่านิยมในการเรียนเมืองนอก หรือไปจบต่างประเทศกลายเป็นค่านิยมของคนไทยหลายๆ คนเพราะเชื่อว่าการมีใบปริญญาจากต่างประเทศสักใบสามารถกลับมาขิงเพื่อนได้
เชื่อไหมครับว่าค่านิยมดังกล่าวไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคที่ชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว และสยามหรือไทยเองต้องปรับตัวและเรียนรู้วิธีการของชาติตะวันตก หนึ่งในวิธีการที่จะตามทันคือการส่งลูกหลานไปศึกษาวิทยาการต่างประเทศ เพื่อจะได้รู้เท่าทันชาติตะวันตก
คนธรรมดาสามัญทั่วไปไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนได้ เพราะทุนทรัพย์ไม่มี อำนาจไม่ถึง ชนชั้นที่ส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศได้คือชนชั้นนำของรัฐที่มีทั้งเงินและอำนาจ
SPRiNG พาไปรู้จัก จบนอกเฟี้ยวกว่าจบไทย? ย้อนตำนานการไปต่างแดน ควงใบปริญญาเหมือนแฟนมาขิงเพื่อน ที่ทำให้เรารับรู้ว่าการเห่อใบปริญญาจากเมืองนอกเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคไหน ถึงขนาดที่บางคนต้องลงทุนเพื่อได้มาโดยไม่สนวิธีการ
ภัยคุกคามจากชาติตะวันตกได้เริ่มย่างกรายเข้ามาในสยามอย่างชัดเจนและชนชั้นนำเริ่มตระหนักตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แล้วแต่ผู้ที่เอาใจใส่โดยให้ลูกหลานได้รับการศึกษาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
โดยพระองค์นั้นได้ศึกษาภาษาอังกฤษและวิทยาการจากชาวต่างชาติตั้งแต่ครั้งบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ และเมื่อขึ้นครองราชสมบัติพระองค์ได้จ้างครูสอนภาษาอังกฤษมาสอนลูกหลานของพระองค์ รวมถึงเจ้าจอมของพระองค์ด้วย ผู้ที่เป็นตำนานคือแหม่มแอนนา หรือแอนนา เลียวโนเวนส์
ที่เป็นตำนานจนกลายเป็นหนังสือชื่อว่า แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม Anna And The King Of Siam และได้กลายเป็นเรื่องที่โด่งดังจนนำมาสร้างภาพยนต์ Anna And The King ที่นำแสดงโดย โจว เหวินฟะ มาแล้ว
ปลายรัชกาลที่ 4 ได้มีการส่งนักเรียนไทยชุดแรก ไปเรียนต่อที่ยุโรป 3 คน สองคนที่ไปเรียนในอังกฤษ คือ นายโต บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ต่อมากลับมารับราชการในบั้นปลายได้เป็นเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ และนายสุดใจ บุตรเจ้าพระยาภาณุวง์มหาโกษาธิบดี (ท้วม) กลับมารับราชการได้เป็นพระยาราชานุประพันธ์ ส่วนคนที่สามคือ นายบิน บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ไปเรียนที่ฝรั่งเศส กลับมาได้เป็นหลวงดำรงสุรินทฤทธิ์
ซึ่งล้วนแต่เป็นคนจากสายตระกูล บุนนาค ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในรัชกาลที่ 4 ด้วยกันทั้งสิ้น
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยังโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกลูกผู้ดีไทย รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ประมาณ 20 คน ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์อีกชุดหนึ่ง สามคนในจำนวนนี้ได้ไปเรียนที่อังกฤษอีกด้วย คือ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระยาไชยสุรินทร์ (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง ศิริวงศ์)
และในเวลาต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ส่งพระราชโอรสของพระองค์ไปเรียนที่ต่างประเทศอีกหลายพระองค์ โดยวิชาหลักๆ ที่ส่งไปเรียนคือวิชาด้านการปกครอง ด้านการทหาร และวิทยาศาสตร์ ทรงตั้งเป้าไว้ว่าจะนำวิชาความรู้มาใช้พัฒนาประเทศ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เริ่มมีการส่งนักเรียนทุนไปต่างประเทศมากขึ้น และมีทุนต่างๆ ในต่างประเทศเข้ามาเช่นทุนจากประเทศยุโรปหรือทุนจากอเมริกา
ทศวรรษ 2500-2530 เศรษฐกิจไทยเติบโต การศึกษาต่างประเทศเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพราะในช่วงเวลานี้เองไทยเองถือได้ว่าเป็นมหามิตรของอเมริกาอเมริกาเองสนับสนุนให้คนไทยไปเรียนต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศของตนเอง
ซึ่งหากฉายภาพผ่านประวัติศาสตร์จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วคือชนชั้นนำ หรือกลุ่มคนที่ใกล้เครือข่ายอำนาจ ทั้งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงระบอบประชาธิปไตย
และปัจจัยจากภายนอกคือบริบทของสังคมโลก ทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อไปเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ เป็นที่มาว่าหากเราต้องการรู้สิ่งใหม่ๆ ทันสมัยจำเป็นต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ
และมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่งมีชื่อเสียงระดับโลก หลักสูตรและสาขาวิชาหลากหลาย เน้นการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีล้ำสมัย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้รับวุฒิการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลจริงๆ
กลายเป็นค่านิยมของคนไทยว่า จบนอกเฟี้ยวกว่าจบไทยเพราะเชื่อว่าการควงใบปริญญามาขิงเพื่อนที่จบในประเทศไทยถือว่าเหนือกว่านั่นเอง แต่ต้องดูให้ดูว่าเป็นมหาวิทยาลัยอะไร ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถวแบบที่เป็นดราม่าอยู่หรือเปล่า
อ้างอิง
SilpaMag1 / SilpaMag2 / Campus /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง